สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน สานโคระห่อผลจำปาดะป้องกันแมลงเจาะทำลายผล

“จำปาดะ” เป็นไม้ผลที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ พบได้ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ชาวบ้านนิยมปลูกไว้รับประทานและจำหน่าย สืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี ปัจจุบัน จำปาดะ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรจังหวัดสตูลและสงขลา จำปาดะออกผลปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ศัตรูสำคัญของผลจำปาดะ คือแมลงวันทอง ซึ่งจะเจาะผลเพื่อเข้าไปวางไข่ ทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย เกษตรกรจึงต้องมีการห่อผลในช่วงผลอ่อน โดยใช้วัสดุที่สานจากใบมะพร้าว เรียกว่า “โคระ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบต่อกันมาช้านานในการใช้ห่อผลไม้ตระกูล จำปาดะ และขนุน ปัจจุบันมีการใช้โคระจากทางมะพร้าวน้อยลงมักจะใช้ถุงพลาสติกและกระดาษกันมากกว่าเพราะสะดวกรวดเร็ว ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มลางเลือนไปจากชีวิตของคนรุ่นใหม่และไม่ค่อยรู้จักโคระห่อขนุนหรือจำปาดะกันแล้ว
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 5 จังหวัดสงขลา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและเก็บข้อมูลการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเกษตร เพื่อประชาสัมพันธ์แปลงจำปาดะคุณภาพดี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลกับเกษตรกร เนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้จะถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว โดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก ร.ต.ทวี ชาตะวิทยากูล เกษตรกรเจ้าของ “สวนลุงวี” อดีตข้าราชการทหารเรือ ที่เกษียณอายุราชการแล้วหันมายึดอาชีพเกษตรกร บนเนื้อที่ 3 ไร่ครึ่ง หมู่ 3
บ้านนอก ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน หรือที่ชาวบ้าน
ในพื้นที่เรียกว่า สวนสมรม (สมรม ในภาษาใต้ แปลว่ารวมหลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกัน ) คุณลุงทวี มีวิธีการป้องกันแมลงของสวนแห่งนี้คือ การห่อผลอ่อนของจำปาดะด้วย “โคระ” ซึ่งทำมาจากทางมะพร้าวสาน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมากว่า 100 ปี สามารถช่วยป้องกันแมลงได้ 85-100 % “โคระ” นั้นมีวิธีการสานที่ไม่ยุ่งยาก โดยนำใบมะพร้าวหรือทางมะพร้าว มาตัดให้เหลือก้านใบ 3-4 ก้าน จำนวน 2 ทางใบ มาสานขึ้นรูป
ทีละด้านในลักษณะลายขัด เมื่อขัดตอกได้ 4 ตาแล้ว ใช้ก้านมะพร้าวทำเป็นหมุดกลัดตอกเส้นบนสุดของทั้งสองข้างไว้กันหลุด แล้วพลิกไปสานด้านตรงข้ามต่อไป ขัดตอกตามวิธีเดิมจนได้ รูปคล้ายกรวย ปลายตอกทั้งสองของแต่ละท่อนทางจะไปรวมอยู่ด้านเดียวกัน ขัดตอกตามวิธีเดิมจนใกล้สุดปลายตอกใบ รวบปลายใบขัดเป็นปม 2 ปม คล้ายผมเปีย ก็จะได้โคระที่เสร็จสมบูรณ์เป็นลูกขนาดกว้างและยาวพอเหมาะกับผลจำปาดะ สานเสร็จก็แขวนไว้ให้แห้งเป็นสีน้ำตาลจึงนำไปห่อผลจำปาดะ โดยสวมทางปากหรือก้นโคระก็ได้ แล้วปล่อยทิ้งไว้จนผลไม้เจริญเต็มที่ โคระก็จะขยายตัวยืดออกตามขนาดของผลไม้นั้น ๆ หากนำโคระที่ยังเป็นสีเขียวสดไปห่อผล จะไม่สามารถกันแมลงวันผลไม้ได้ โดยโคระแต่ละใบใช้ได้เพียงครั้งเดียว คุณลุงทวี กล่าวว่า เนื่องจากแมลงวันทองจะเห็นสีน้ำตาลของใบมะพร้าวเป็นสิ่งที่ตายแล้วไม่เหมาะสมต่อการเข้าไปวางไข่ จึงไม่เข้าไปเจาะผลจำปาดะ นั่นเอง แต่ถ้าปีไหนที่มีแมลงวันทอง หรือแมลงศัตรูพืชระบาดหนัก จะใช้วิธีสุมควันจากการเผากิ่งไม้ และคลุมด้วยใบไม้สดไล่แมลง หรือปล่อยให้มีจำปาดะสุกบนต้น 1-2 ผล โดยไม่ห่อ เพื่อแบ่งเป็นอาหารให้แมลง ปัจจุบันทางมะพร้าวหายาก จึงมีการใช้ถุงตาข่ายแทน ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาแมลงในสวนได้แต่ป้องกันได้ไม่ดีเท่ากับสวมโคระ นอกจากนี้การใช้โคระจะช่วยให้ผลจำปาดะมีสีสวยด้วย นอกจากนี้ภายในสวนยังมีภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาอีก อาทิ กาลักน้ำ ซึ่งเป็นการฝังภาชนะดินเผาใส่น้ำไว้บริเวณโคนต้น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ต้นไม้ให้ได้เรียนรู้กันอีกด้วย หากท่านใดต้องการศึกษาเรียนรู้สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่คุณลุงทวี โทร. 093 580 5789