ผุดไอเดีย “รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป” เปิดให้พ่อค้าที่มีรถขนส่งร่วมโคร มุ่งกระจายผลไม้คุณภาพจากสวนภาคใต้ 9 จังหวัด สู่ผู้บริโภคโดยตรงสู่ภาคอีสาน

กรมส่งเสริมการเกษตร ผุดไอเดีย “รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป” เปิดให้พ่อค้าที่มีรถขนส่งร่วมโครงการ มุ่งกระจายผลไม้คุณภาพจากสวนภาคใต้ 9 จังหวัด สู่ผู้บริโภคโดยตรงสู่ภาคอีสาน ที่ จ.อุดรธานี พร้อมชวนร่วมอุดหนุนสินค้าเกษตรกรไทย 6-7 สิงหาคมนี้ ที่ตลาดเมืองทองเจริญศรี
วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ตลาดเมืองทองเจริญศรี อ.เมือง อุดรธานี นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดโครงการ “รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป” โดยมีนายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี นายกิตติกร ทีธนานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พี่น้องเกษตรกรและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน
นายสุพิท จิตรภักดี ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตไม้ผลเมืองร้อนที่มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม แต่ผลผลิตจะกระจุกตัวก่อให้เกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ เกษตรกรจะต้องเร่งกระจายผลผลิตเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อทำให้ผลผลิตได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงในท้องตลาด
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเริ่มช่องทาง โดยใช้รถเร่ส่งผลไม้จากแหล่งผลิตโดยตรง ทำให้กระจายสินค้าได้รวดเร็วไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า จึงเกิดโครงการรถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนได้ร่วมกับสำนักงานเกษตร 9 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวบรวมผลผลิตในพื้นที่มาเชื่อมโยงกับตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตลาดเมืองทองเจริญศรี ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งและมีผู้บริโภคจำนวนมาก เป็นแหล่งรองรับสินค้าเชื่อมโยงไปต่างประเทศ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิต ซึ่งมีผลไม้หลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ สละอินโด จำปาดะ รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ให้ชม ชิม ช้อป หลากหลาย ภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลได้มีนโยบายการบริหารจัดการผลไม้ของประเทศในสภาวะวิกฤตโควิด มอบหมายให้กระทรวงการเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่บริหารจัดการ เราวางแผนบริหารจัดการสำเร็จไปแล้วในภาคตะวันออก ขณะนี้กำลังบริหารจัดการผลไม้ทางภาคเหนือและภาคใต้ และจุดตรงนี้เป็นการบริหารจัดการผลไม้ทางภาคใต้ 4 ชนิดคือ ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด ซึ่งจะออกมากในเดือนสิงหาคม ปริมาณ 8 แสนกว่าตัน แนวทางการบริหารจัดการจะมีทั้งการส่งออก เน้นเป้าหมายเท่าเดิม การบริโภคภายในประเทศปีนี้จะให้มีการกระจายการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ส่งสินค้าให้ถึงผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ภายในเวลารวดเร็ว เป็นสินค้าที่ สด ไม่เสียหาย มีการรับรองคุณภาพด้วย วิธีการกระจายออกสู่ทั่วทุกภูมิภาคก็มีหลายรูปแบบ ระบบปกติ ขนส่งค้าขาย ตามแผงของตลาดตามภาวะปกติ
สำหรับโครงการ รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป เริ่มทำในปีนี้ เป็นการนำรถเร่ที่ขนส่งผลไม้จากทางภาคใต้ มาสู่พี่น้องภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ครั้งนี้เป็นการกระจายมาสู่ภาคอีสาน เป็นตลาดใหญ่ วิกฤตโควิด เป็นเรื่องที่เราเฝ้าระวังมาโดยตลอด ก็มีการแก้ไขสถานการณ์ ตอนแรกกระทบเรื่องการส่งออก เนื่องจากไฟล์ทบิน และการขนส่ง มีการตรวจด่าน ทำให้มีการกักตัวผู้คน จราจรการขนส่งเป็นอุปสรรค เราก็มีการวางแผนเจรจาให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ จนมาถึงปัจจุบันทั้งทางบก อากาศ เรือ สามารถกระจายผลไม้ออกสู่ต่างประเทศในเป้าหมายที่เราวางไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการส่งผลไม้ไปต่างประเทศไม่ได้ต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา และต่างประเทศมีการตอบรับ ทำให้กระจายไปต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย และราคาดีขึ้นด้วย ส่วนภายในประเทศก็พยายามนำสินค้าพรี่เมี่ยมสินค้าคุณภาพ ออกจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยเน้นการขนส่งภายในประเทศเป็นระบบออฟไลน์ เชื่อมโยงกับระบบออนไลน์ ไม่ว่าไปรษณีย์ ช้อปปี้ ลาซาด้า ก็สามารถส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ โครงการรถเร่ ก็เป็นการลดต้นทุนของการขนส่งสินค้า สามารถทำให้ไปสู่พี่น้องเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ คุณภาพสินค้าก็ดีด้วย
ผลไม้ทุกชนิด เราจะเน้นคุณภาพ จะต้องเก็บเกี่ยวภายในเวลาที่กำหนดตามหลักวิชาการ เช่น ทุเรียนจะไม่มีการตัดทุเรียนอ่อนแน่นอน เนื่องจากจะมีผลกระทบเรื่องคุณภาพ มีการตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพของผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ GAP มีการตรวจโรงงานที่คัดแยกคุณภาพที่เรียกว่า ระบบ GMP ตรวจคุณภาพทุกขั้นตอนตั้งแต่ระบบการผลิต มายังจุดรวบรวมไปสู่ผู้บริโภค เรื่องเหล่านี้เราให้ความสำคัญและมีการวางตัวกำกับไว้เป็นอย่างดี ก็จะแก้ไขปัญหาผลไม้ที่ไม่มีคุณภาพ อีกประการหนึ่งคือการมากำกับคุณภาพการบรรจุหีบห่อ การส่งสินค้าปลายทางจะต้องไม่รับผลกระทบ แตก หัก หรือผลไม้เน่าเสีย มีการเฝ้าระมัดระวัง ถ้าเน่าเสียหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็จะมีระบบการประกันเข้ามาช่วย การเคลม การชดเชยให้ เรื่องของคุณภาพก็จะไม่มีปัญหา