ขอแนะนำ "มายล (MA YL)" นักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย (Breeder) พี่เลี้ยงและที่ปรึกษาที่ห่วงกระต่ายคุณเหมือนครอบครัว

อีกไม่กี่เดือนก็จะผ่านพ้นปีเสือและนับถอยหลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันอีกแล้วนะครับแฟนข่าวที่รักทุกท่าน...

สำหรับปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ ก็เวียนมาครบรอบปีนักษัตรไทยที่เราหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ "ปีเถาะ" หรือ "ปีกระต่าย" นั่นเอง ซึ่งแฟนข่าวของเราหลายคนคงเคยรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีน้องกระต่ายวิ่งเล่นอยู่รอบบริเวณ หรือได้มีโอกาสป้อนอาหารให้กับน้องกระต่ายตามงานสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว

แต่ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เพื่อน ๆ หลายคนยังไม่เคยรู้จัก และวันนี้เราอยากจะพามาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ "นักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย (Breeder)" กันดูบ้างครับ เนื่องจากเราได้สืบทราบมาว่าที่ 'บ้านกระต่ายแห่งนี้' มีกระต่ายพันธุ์หายากมากอยู่ด้วย และเราก็อยากรู้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายจริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่กันครับ?

และวันนี้เรามีโอกาสได้มาพบ 'คุณเต่า' และ 'คุณหนุ่ย' ที่ย่านรามอินทรา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ "MA YL HINDU PLACE" กันนะครับ และขอเริ่มต้นคำถามแรกเกี่ยวกับแนวทางและจุดมุ่งหมายกันก่อนว่าบ้านกระต่ายน้อยของมายลเกิดขึ้นมาจากวัตถุประสงค์ใดกันครับ?

คุณเต่าเล่าว่า "..เริ่มต้นจากความอยากเลี้ยงกระต่ายแบบเพื่อน ๆ ทุกคนนี้แหละครับ ไม่ได้ศึกษาอะไรมาก่อนเลย รับแต่วิธีการเลี้ยงน้องมาจากร้านขายกระต่ายอีกที ตอนแรกก็เริ่มเลี้ยงจาก 2 ตัว พอเลี้ยงไปได้สักพักก็เริ่มไปอยู่ตามกลุ่มกระต่ายต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ก มีโอกาสไปเห็นกระต่ายหูตกหน้าตาน่ารัก ใจก็นึกอยากได้ขึ้นมาอีก และด้วยความที่ไม่ได้ศึกษาการเลี้ยงน้องมาก่อน ประกอบกับน้องกระต่ายที่เลี้ยงมาก่อนหน้าเเล้ว 2 ตัวก็ยังปกติแข็งแรงดี

จึงไปซื้อกระต่ายหูตกมาเพิ่มอีก 10 ตัว แต่เชื่อไหมว่าหลังจากเอามาเลี้ยงได้ 2 วันน้องก็เริ่มป่วย พอพาน้องไปหาสัตวแพทย์ก็ทราบว่าน้องป่วยเป็น 'โรคบิด' และกระต่ายที่เลี้ยงอยู่ด้วยกันก็มีโอกาสติดเชื้อทั้งหมด!! ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจึงได้รับรู้เลยครับว่า การเลี้ยงกระต่ายนอกจากที่พักอาศัยและอาหารที่น้อง ๆ ต้องกินแล้ว ก็ยังมีค่ารักษาพยาบาลนี่แหละที่หนักเอาการเลย 555

หลังจากวันนั้น เราจึงมานั่งย้อนความคิด ๆ กันดูว่า ภายนอกยังมีคนแบบพวกเราอีกเป็นจำนวนมากที่ซื้อน้องเพราะว่าความน่ารัก หรือซื้อเพราะความอยากได้ และไม่คิดว่าน้องจะป่วยก็ยังมีอีกเยอะเลยครับ พวกเราจึงอยากลองทำอะไรบางอย่างที่สามารถจะช่วยเหลือน้อง ๆ ได้ ทั้งเคยรณรงค์ ไม่ซื้อ-ขายกระต่ายเด็ก อยู่พักนึง แต่สรุปก็ยังมีอยู่และดูเหมือนว่าจะไม่ได้ลดลงเลย

พวกเราจึงตัดสินใจกันว่าจะค้นหาข้อมูลแล้วไปช่วยตอบคำถามตามกลุ่มต่าง ๆ แต่เนื่องจากสมัยนั้นต้องมีคนรู้จักระดับหนึ่งก่อนจึงจะมีคนเชื่อถือ และเราก็ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์กันเสียด้วย จึงตกผลึกกันว่าจริง ๆ แล้วการที่เราคลุกคลีกับกระต่ายมาก ๆ ได้เรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ของเขาให้เข้าใจนั้นต้องใช้เวลา ประกอบกับตอนนั้นไปรู้มาว่า กระต่ายในแต่ละสายพันธุ์จะมีมาตรฐานของเขา แบบไหนเรียกตรงตามมาตรฐาน แบบไหนประกวดได้ แบบไหนประกวดไม่ได้ และยังมองว่าเป็นความท้าทายใหม่ จึงได้ตัดสินใจแสวงหากระต่ายที่มีลักษณะตรงตามมาตรฐาน แล้วนำมาผสมเพื่อพัฒนาสายพันธ์ุดู แต่ใจก็แอบคิดเอาไว้ถึงอนาคตว่า ถ้าหากมีกระต่ายสวย ๆ ก็อาจเป็นที่รู้จักของผู้คนเยอะขึ้น แล้วก็จะเอาชื่อเสียงที่มีเหล่านี้แหละไว้คอยช่วยเหลือกระต่ายที่ถูกเอาไปขายตั้งแต่เด็ก หรือมีอาการป่วยต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงมือใหม่ไม่ทราบมาก่อน ก็จะพยายามให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ โดยหลัก ๆ ก็จะเป็นการช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ก่อนที่จะพาน้องไปพบกับสัตวแพทย์ เพราะกระต่ายถ้าเป็นอะไรขึ้นมา ทุกนาทีมีค่ามาก ๆ ครับ

สำหรับเรื่องของการประกวดนั้น พวกเราก็ดำเนินการหาพ่อแม่พันธุ์นำเข้ามาจาก 'อเมริกา' เริ่มศึกษาโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการบรีด (Breeding) และการประกวด เพื่อสร้างแนวทางการบรีดให้ใกล้เคียงตามมาตรฐานของ American Rabbit Breeders Association (ARBA) หรือ สมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา

ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดจะทำกระต่ายประกวดแบบจริงจังขนาดนี้ แต่ด้วยความโชคดีในการส่ง 'กระต่ายลูกเกิด' ที่เราบรีดเองเข้าประกวดในงาน และได้รับรางวัลในครั้งแรกนั้นด้วย คือ ถ้วยรางวัล "Best Junior in show" (กระต่ายเด็กที่สวยที่สุดในโชว์) ควบด้วยรางวัล "Best Reserve in show" นั้นคือ กระต่ายของพวกเรา 1 ตัว ได้รางวัลมาถึงสองถ้วยสำหรับมือใหม่ และเป็นครั้งแรกที่บรีดกระต่ายออกมาเอง จึงเป็นช่วงเวลาที่เราดีใจและภูมิใจเอามาก ๆ

เลยได้คิดกันต่อว่าคงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สานต่อการบรีดและแนวทางที่เราได้คุยกันไว้แต่แรก นั่นคือ อยากส่งต่อชุดความรู้ที่ถูกต้องให้กับคนเลี้ยงกระต่ายคนอื่น ๆ ซึ่งประโยชน์ที่เราได้ทำและส่งต่อให้กับผู้ที่ได้รับคือ 'กระต่าย' และเมื่อน้องได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างถูกต้อง ทั้งโภชนาการการกินและความเป็นอยู่ ก็ทำให้น้องมีอายุที่ยืนยาวและสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วยครับ

ในส่วนของงานสังคมที่มีช่วยตอนนี้หลัก ๆ คือ ช่วยเรื่องค่าอาหาร หญ้าแห้ง และค่ารักษาพยาบาล ให้กับกระต่ายที่วัดทรายทอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ครับ พวกนี้เป็นกระต่ายที่ถูกทิ้งครับ ตอนแรกมี สามร้อยกว่าตัวตอนนี้เหลือร้อยนิด ๆ คอยช่วยกันหาบ้านให้เขา และอันนี้ไม่พูดไม่ได้เลย ต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ช่วยส่งอาหาร หญ้าแห้ง และสิ่งต่างๆที่จำเป็นไปสมทบกันที่นั่นนะครับ และที่นั่นจะมี 'พี่ทิวา' กับ 'พี่ประทีป' คอยดูแลน้อง ๆ อยู่ (เอามือพนม) ถ้าไม่ได้พี่สองคนนี้กระต่ายที่นั่นคงแย่เลย.."

และก็มาถึงคำถามที่สอง ขายกระต่ายยากจริงไหมครับ?

"..จริงครับ ถ้าย้อนไปเมื่อ 8 - 9 ปีที่แล้วถ้าผมเป็นคนขายกระต่ายให้ตัวเองในวันนั้น ผมคงไม่ขายให้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน และไล่ให้ไปศึกษาข้อมูลวิธีการเลี้ยงน้องมาให้ดีก่อน ตัวอย่างเช่น

Q: อย่างแรกการเลี้ยงกระต่าย อะไรที่เขาทานได้หรือไม่ได้?

A: กระต่ายก็ทานแครอทไงครับ

นั่นไง ถ้าเจอแบบนี้ผมไม่ให้กระต่ายของผมไปเป็นแน่ 555

และอยากฝากถึงคนที่จะเลี้ยงกระต่ายทุกคนด้วยนะครับ อันดับแรกเลยการเลี้ยงกระต่ายที่ปลอดภัยและถนอมอายุเขามากที่สุด กระต่ายจะต้องได้รับ 'หญ้าแห้ง' ตามวัยของเขาเพื่อความเจริญเติบโต และสำหรับ 'อาหารเม็ด' นี่เราจะให้ไม่เยอะ ให้เพื่อทดแทน วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ ที่หญ้าแห้งไม่มี หรือมีน้อยเพียงเท่านั้น

ต้องพยายามศึกษาโรคของเขา อะไรที่เป็นบ่อย ๆ อย่างเช่น ท้องอืดท้องเสีย สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่เเล้ว สิ่งนี่สำคัญมาก ๆ เลยนะครับ

และหากมีคำถามอะไรเพิ่มเติม ก็ไว้ไปคุยกันในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "MA YL hindu place" กันนะครับ ผมจะมีกลุ่มที่ผมเป็นแอดมินอยู่ รวมคำถามแล้วผมก็จะไลฟ์ตอบเมื่อเวลามากพอ จริง ๆ ก็อยากสื่อสารกับผู้เลี้ยงให้มาก ๆ เพราะถือว่ายังไงก็รักในสิ่งเดียวกันแล้ว ส่วนจะได้กระต่ายของผมหรือไม่นั้น เนื่องจากกระต่ายของผมจำนวนมันค่อนข้างจำกัด และผมก็ไม่ได้บรีดออกมาเพื่อขายแล้วกอบโกยเอาเงิน เพราะนั่นไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงของบ้านมายล (MA YL) ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ขอให้รู้จักเราในฐานะ 'ครอบครัวกระต่าย' ในมิติกระต่ายของคุณทุกคน ขอให้คิดไว้เสมอว่า ถ้าคุณมีปัญหาใด ๆ ก็ตาม เราจะคอยช่วยเหลืออยู่ตรงนี้ และเรามีแนวทางของเราครับ

สุดท้ายที่จะฝากซึ่งมันสำคัญมากในปีกระต่าย หรือปีอะไรก็แล้วแต่ที่จะถึงนี้ว่า

...การจะรับใคร หรือตัวอะไรเข้าบ้าน ขอให้พึงระลึกไว้เสมอ ว่าเขาจะมีแค่เราที่เป็นครอบครัว รับมาแล้วให้ดูแลกันไปจนสิ้นอายุขัย เรียกได้ว่า เอามาดูแล อย่าเอามาดูเล่นนะครับ ถ้าคุณคิดแบบนี้ได้เมื่อไร นั่นแหละครับ คุณพร้อมแล้วที่จะมีสัตว์เลี้ยงตัวแรก หรือว่านั่นแหละคุณพร้อมแล้วที่จะดูแลใครสักคน...

และสุดท้ายนี้ขอรณรงค์ผ่านทางนี้ด้วยอีกช่องทางนะครับ

#ร่วมรณรงค์ไม่ซื้อ-ขายกระต่ายเด็กกันครับ

สวัสดีครับ.."

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวกระต่ายน้อยของมายลได้ทาง

Facebook: https://www.facebook.com/hinduplacemayl/
Line Official Account: @MAYL

กระต่ายน้อยของมายล มนต์ของมายล เมื่อคุณค้นหาคุณอาจได้คำตอบมากกว่าคำว่า "กระต่าย"

Facebook : https://www.facebook.com/hinduplacemayl/