สธ. เตรียมรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ปี'64 รุกแนวคิด “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” ต่อเนื่อง

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เปิดการประชุม “สูงวัย ก้าวไกล สุขภาพดี มีคุณค่า สู่ทศวรรษ 2020-2030” (Decade of Healthy Ageing 2020-2030) พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติ 6 ประเภทดีเด่นระดับเขตสุขภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุต้นแบบสุขภาพดี ชีวีมีสุข ดีเด่น ชมรมผู้สูงอายุ ดีเด่น ตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ ดีเด่น ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ดีเด่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ดีเด่น และนวัตกรรมด้านการส่งเสริมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ดีเด่น ณ ห้องประชุม DIAMOND HALL โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยมีการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีจำนวน 12.2 ล้านคน หรือร้อยละ 18 คาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุ อย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 จึงต้องเตรียมการเพื่อรองรับเนื่องจากผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง และ ไตวาย อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งจากรายงานการสํารวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการ ตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสํารวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 8.1 โดยพบในผู้สูงอายุชาย ร้อยละ 6.8 และ ผู้สูงอายุหญิง ร้อยละ 9.2 และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความชุกของภาวะสมองเสื่อมก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาสุขภาพ ด้วยแนวคิด “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” หรือ 4 Smart ได้แก่ 1) Smart Walk คือ การออกกําลังกาย สม่ำเสมอเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกําลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30-60 นาที ด้วยการบริหารร่างกายท่าต่าง ๆ การเดินอย่างสม่ำเสมอทุกวัน 2) Smart Brain คือ การดูแล ฝึกฝน ทักษะทางสมอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม 3) Smart Sleep & Emotional คือ การนอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง โดยนอนหลับในช่วงหัวค่ำและตื่นแต่เช้า และ 4) Smart Eat คือ การกินอาหาร อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ พร้อมกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหาร มีฟันอย่างน้อย 20 ซี่ 4 คู่สบ” ดร.สาธิต กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมสูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องเร่งดำเนินการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและ ผู้พิการในชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ซึ่งเป็นผู้จัดทําแผนการดูแลรายบุคคลทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ควบคุมกำกับการทำงานของผู้ดูแล ผู้สูงอายุ (Caregiver) อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นในพื้นที่ สนับสนุนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับคน ในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งการผลิตนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นการสร้างมูลค่าของทรัพยากรที่มี ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ และเป็นการต่อยอดการจัดระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ อันจะส่งผลให้ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ