กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรโดยกำหนดให้มีเวทีให้เจ้าหน้าที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานต่าง ๆ และร่วมกันแก้ไขปัญหาในประเด็นเร่งด่วน (Hot Issue) ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นเวทีเชื่อมโยงวิชาการจากแหล่งความรู้ทางวิชาการไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยให้มีการดำเนินการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกระดับ และสรุปผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงยึดแนวทางของ T&V System โดยปรับกระบวนการทำงานเพิ่มเติม โดยเน้นให้อยู่บนระบบออนไลน์ แอพพลิเคชั่น การทำงานผ่าน Platform ต่างๆ การเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การประสานงานและการให้บริการเกษตรกรด้วยวิธีการติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงข้อมูลระยะไกล เน้นเป้าหมายการทำงานอย่างเป็นระบบ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร ซึ่งตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2564 จนถึงขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ในฐานะหน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตรที่กำกับดูแลสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ดำเนินงานตามแนวทางของกรมส่งเสริมการเกษตร และได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรระดับเขต (RW) ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 ขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบ Zoom meeting เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สรุปงานที่ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ได้ออกแบบร่วมกัน ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยการสัมมนามีบุคคลเป้าหมายประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่ม เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ เกษตรอำเภอ วิทยากรและผู้เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 350 คน มีการเพิ่มเติมความรู้ เรื่อง การพัฒนางานและการบริหารจัดการเวลา การนำนวัตกรรมจากศูนย์ AIC ขยายสู่พื้นที่ การปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ปี 2563 (ว.89) การบรรยายและฝึกปฏิบัติ เรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน การปรับตัวและการแก้ปัญหาในการทำงานด้วยกระบวนการแบบสร้างสรรค์ และแบ่งกลุ่มอภิปรายกลุ่มย่อยในประเด็นการขยายผลงานวิจัยสู่เกษตรกร และการดำเนินงานท้าทายส่งเสริมการเกษตรภาคใต้ ตามแนวทางการดำเนินงานที่ร่วมกันออกแบบในเวทีสัมมนาฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จากผลการสัมมนาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เขต จังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการได้ร่วมกันดำเนินการขยายผลวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ประสบผลสำเร็จในหลายๆ พื้นที่ และได้สรุปบทเรียนเป็นแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันในปีต่อไป และการดำเนินงานท้าทายเพื่อพัฒนาพื้นที่ คน สินค้า ได้แก่ การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้าการยกระดับวิสาหกิจชุมชนจากกลุ่มปรับปรุงให้พัฒนาสูงขึ้น การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ในทุกอำเภอรวม 151 จุด และการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนร่วมกันในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของการนำระบบส่งเสริมการเกษตร มาใช้ในการขับเคลื่อนงาน ทำให้เกิดการพัฒนาและสามารถแก้ปัญหาการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ของภาคใต้สำเร็จได้เป็นอย่างดี