สสก.5 สงขลา เดินหน้าพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร รากฐานครอบครัวมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นการรวมตัวกันของสตรีในภาคเกษตร ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามความสมัครใจ ภายใต้กติกากลุ่มและการบริหารงานในรูปคณะกรรมการ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนให้ดีขึ้นทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักบริหารจัดการกลุ่มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงไปจนถึงต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจึงถือเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นกลไกหลักที่ช่วยผลักดันการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 1,432 กลุ่ม
สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรรวม จำนวน 41,296 คน เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่มีผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรประมาณ 75 % ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าพิมพ์ลาย ประมาณ 10 % ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องจักสานต่างๆ ประมาณ 10 % และกิจกรรมอื่นๆอีก 5 % โดยในปี 2564 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและพัฒนาสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer พัฒนาศักยภาพกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่การเป็น Smart Group ส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็น Smart Product ที่มีการรับรองมาตรฐานการันตีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งส่งเสริมให้ครัวเรือนของเกษตรกรและชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร “กินดี อยู่ดี เพิ่มพูนรายได้” โดยได้ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะให้กับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เช่น การวางแผนการผลิต ทักษะด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้า การถนอมและแปรรูปอาหาร รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตสำหรับดำเนินกิจกรรมให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรต้นแบบใน 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดละ 1 กลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาเพิ่มศักยภาพผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือและการพัฒนาองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็งตลอดจนช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง หวังให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรซึ่งเป็นสตรีที่มีบทบาทพื้นฐานหลักในครอบครัวช่วยกันสร้างสมดุล ให้ครอบครัวมีความสุข ร่วมกันทำกิจกรรมให้ชุมชนเข้มแข็ง อันจะส่งผลให้สังคมสงบสุขต่อไป