สสก.5 สงขลา ลุ้นวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทรายชิงที่ 1 ระดับประเทศ


นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา
ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีแนวโน้มในการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถพัฒนาให้เป็นต้นแบบสำหรับวิสาหกิจชุมชนอื่น เพื่อเป็นการกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความมั่นคง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 รวมทั้งเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ยกย่อง ประกาศเกียรติคุณวิสาหกิจชุมชนที่มีผลงานดีเด่นสู่สาธารณชน โดยคณะกรรมการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ร่วมกันเก็บข้อมูลวิสาหกิจชุมชนใน 5 ด้าน ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน การทำกิจกรรมด้านสวัสดิการชุมชน สาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่าวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับเขตภาคใต้ เป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับประเทศต่อไป
นายกิตติศักดิ์ นาคกุล ประธานกลุ่ม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย
มีสมาชิก 226 คน หลักคิดริเริ่มมาจากสถานการณ์ภาวะหนี้สินของชาวบ้านห้วยทรายมีสะสมมาช้านาน เนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพสร้างรายได้และร่วมกันแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สร้างแหล่งเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ ส่งเสริมและฝึกการประหยัดอดออมและสร้างสวัสดิการแก่สมาชิกและชุมชน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย มีกลุ่มกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ 1) กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นศูนย์กลางหัวใจหลักของวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้ในการบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ทุกท่านที่เป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ด้วย มีผลประโยชน์และการปันผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โปร่งใส และมีความยุติธรรม สมาชิกทุกท่านได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน 2) กิจกรรมโรงสีชุมชน 3) กิจกรรมโรงน้ำดื่มชุมชน 4) กิจกรรมกลุ่มแปรรูปต่างๆ
ดังนี้ (1) กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง น้ำนำน้ำผึ้งมาส่งต่อไปยังกลุ่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้ง
(2) กลุ่มปลาเม็ง แปรรูปปลาเม็งย่างรมควัน น้ำพริกนรกปลาเม็ง ยำปลาเม็ง ต้มโคล้งปลาเม็ง
(3) กลุ่มเห็ด แปรรูปเป็น น้ำพริกเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด เป็นต้น
(4) กลุ่มเครื่องแกงและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
5) กิจกรรมปุ๋ยหมัก 6) กิจกรรมกลุ่มเลี้ยงไก่ 7) กิจกรรมกลุ่มเลี้ยงผึ้ง 8) กิจกรรมกลุ่มเพาะเห็ด
9) กิจกรรมกลุ่มน้ำยางสด 10) กิจกรรมกลุ่มเลี้ยงกบ 11) กิจกรรมกลุ่มปุ๋ยเคมีสั่งตัด และ 12) กิจกรรมเลี้ยงปลาน้ำจืด ได้แก่ (1) เพาะเลี้ยงปลาเม็งแปลงใหญ่ (2) กลุ่มเพาะเลี้ยงดุก (3) กลุ่มเลี้ยงปลาหมอ
การดำเนินงานของกลุ่มกิจกรรมเครือข่ายทั้งหมด มีการจำหน่ายให้แก่ให้กับสมาชิกในราคาถูก และนำผลกำไรมาเป็นรายได้ของกลุ่มฯ นำมาจัดสรรเป็นเงินปันผล ประจำปี การจัดสรรผลประโยชน์ทุกกิจกรรมจะแบ่งจัดสรรเงินจากรายได้กลุ่มเครือข่ายกลับคืนมายังกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ปัจจุบันมีเงินทุน 10,975,900 บาท มีการจัดสรรเงินปันผลให้แก่สมาชิก 2 ชั้น คือ ได้ปันผลจากกลุ่มเครือข่ายและจากกลุ่มออมทรัพย์ฯ เนื่องจากสมาชิกทุกกลุ่มกิจกรรมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และแต่ละกลุ่มมีการกำหนดระเบียบข้อบังคับในดำเนินงาน และทุกกิจกรรมเชื่อมโยงเกื้อกูลกัน ตามเป้าหมาย “อยู่ดี มีสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีเงินออม”