สสก. 5 สงขลา เผยสถานการณ์ผลไม้ภาคใต้ เตรียมแนวทางบริหารจัดการรับมือ Covid-19

สสก. 5 สงขลา เผยสถานการณ์ผลไม้ภาคใต้ เตรียมแนวทางบริหารจัดการรับมือ Covid-19
มิถุนายน – ตุลาคม 2564 เป็นช่วงผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาด สสก.5 สงขลา จัดประชุมบูรณาการ
แผนบริหารจัดการผลไม้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทบทวนข้อมูลผลผลิต เตรียมแนวทางบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ Covid-19
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา
เปิดเผยว่า สสก.5 สงขลา ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ธ.ก.ส. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ศอ.บต. และสำนักงานเกษตรจังหวัดในภาคใต้ ร่วมกันทบทวนข้อมูลผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง คาดว่าปีนี้ผลผลิตรวม ประมาณ 873,889 ตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 1.5 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 21.54 ประกอบด้วย ทุเรียน
จำนวน 594,439 ตัน มังคุด 173,116 ตัน เงาะ 63,647 ตัน และลองกอง 42,687 ตัน โดยเป็นผลผลิต
ในฤดูกาล (มิ.ย.-ต.ค.) จำนวน 824,728 ตัน นอกฤดูกาล (ม.ค.-พ.ค. และ พ.ย.-ธ.ค.) จำนวน 49,161 ตัน
ร้อยละ 63 เป็นผลผลิตทุเรียน ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ที่จังหวัดชุมพร การกระจายผลผลิตจะส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก โดยผ่านล้ง และร้อยละ 35 จำหน่ายในประเทศ ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เฝ้าระวังป้องกันผลผลิต
ด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด มีมาตรการเข้มงวด หากเกษตรกรหรือผู้ค้าฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย ในส่วนมังคุดจะบริโภคในประเทศร้อยละ 53 ส่งออกร้อยละ 47 มีการแปรรูปเล็กน้อย ทั้งนี้ได้จัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผลิตและการตลาด เน้นการผลิตคุณภาพตั้งแต่ต้นฤดูกาล กำหนดมาตรฐานคุณภาพมังคุดภาคใต้ไว้ 6 เกรด และมีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพการผลิตให้ได้เกรด 1 และ 2 ร้อยละ 50 และใช้เครือข่ายแปลงใหญ่และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนในการรวบรวมผลผลิตเพื่อประมูล ส่วนเงาะและลองกองบริโภคในประเทศเป็นหลัก การกระจายผลผลิต สำหรับทุเรียนในฤดู เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนตุลาคม ผลผลิตจะออกมากปลายเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม มังคุดจะออกหลายรุ่น ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมและจะเก็บเกี่ยวได้มากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนลองกองเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม และจะเก็บเกี่ยวมากที่สุดช่วงเดือนกันยายน ส่วนเงาะจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมิถุนายน และ
จะเก็บเกี่ยวได้มากช่วงกลางเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน
นายสุพิท จิตรภักดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของของไวรัส Covid-19การบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับการกระจายผลผลิตผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายรูปแบบใหม่ ไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง โดยขอให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทุกจังหวัดส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวกเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถกระจายผลผลิตด้วยวิธีการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น เช่น Thailand postmart
ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด Lazada Shopee www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งการใช้ช่องทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย และ Kerry ซึ่งจะลดค่าขนส่งให้กับเกษตรกร รวมทั้งการกระจายผลผลิตผ่านทางวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ Modern Trade ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน และการจัดงานประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ต่างถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านร่วมอุดหนุนผลไม้ไทยคุณภาพดีของภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในช่วงโควิด