วันนี้ (29 พ.ค. 64) นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายวิชัย ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ร่วมต้อนรับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยประชุมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ วิทยาลัยการอาชีพหัวไทร อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และติดตามสถานการณ์พริกเขียวมัน ณ หมู่ที่ 6 ตำบลทรายขาว อำเภอหัวไทร จากนั้นเดินทางไปร่วมพิธีปล่อยคาราวานขบวนฟักทองดินเหนียว "หนึ่งเดียวในไทย” ณ วัดเกษตรชลธี ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาภายหลังจากการประชุมร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายมังคุด 23 กลุ่ม นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผลไม้ไทยในปีนี้มีผลผลิตประมาณ 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% ตัวเลข การส่งออกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ปี 2564 ช่วง 4 เดือนแรก สามารถส่งออกได้ถึง 50,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้มังคุดจะมีผลผลิตรวมกันประมาณ 330,000 ตัน เป็นมังคุด ในจังหวัดจันทบุรี 36% นครศรีธรรมราช 18% ชุมพร 17% และตราด 17% โดยจำนวน 60% ส่งออกต่างประเทศ และ 40% บริโภคภายในประเทศ ตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน 70% ฮ่องกง 10% เวียดนาม 8% สหรัฐฯ 6% ราคามังคุดเกรด พรีเมียมที่ขายได้หน้าสวนขณะนี้ที่จังหวัดจันทบุรีกิโลกรัมละ 150 บาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหามังคุดประเด็นหลักๆ เรื่องการขาดแคลนแรงงานเก็บมังคุดและแรงงานรวบรวมมังคุด ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หาหนทางผ่อนปรนแรงงานข้ามจังหวัด และการจัดระเบียบล้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดบังคับใช้กฎหมายให้ผู้รับซื้อจะต้องติดป้ายรับซื้อตั้งแต่ 8 โมงเช้าของทุกวัน และเรื่องของมังคุดนอกพื้นที่ ที่เข้ามาสวมชื่อมังคุดนครศรีธรรมราช ได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับเกษตรจังหวัดติดตราว่าเป็นมังคุดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นตรารับรองต่อไป สำหรับมาตรการอื่นๆ ในการดูแลชาวสวนมังคุด กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ชาวสวนมังคุดและล้ง รวมทั้งผู้ส่งออก ทั้งการสนับสนุนผู้รวบรวมผลไม้ กิโลกรัมละ 3 บาท เปิดพื้นที่การตลาดให้พาณิชย์จังหวัดประสานงานกับโมเดิร์นเทรด ปั๊มน้ำมันและพื้นที่ตลาดต่างๆ ระบายผลไม้ในประเทศ ได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย จัดบริการกล่องและคิดค่าส่งราคาพิเศษ ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ และใช้เกษตรพันธสัญญา “อมก๋อยโมเดล” ให้ผู้รับซื้อมาเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้และอบรมเกษตรกรผู้ขายผลไม้ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับตลาดต่างประเทศ ให้เงินช่วยเหลือผู้รวบรวมผลไม้ส่งออกกิโลกรัมละ 5 บาท และจัดส่งเสริมการขายในต่างประเทศ และให้ผู้นำเข้าจากต่างประเทศพบกับผู้ส่งออกไทยผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ส่วนปัญหาความล่าช้าในการออกใบรับรอง GAP ที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตร ขณะนี้ที่จังหวัดไม่มีผู้มีอำนาจในการออกใบรับรองค้างมา 3 ปีแล้ว ได้แจ้งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการ เพื่อให้มีการออกใบรับรองโดยเร็วส่วนปัญหาพริกเขียวมันและฟักทอง นั้น ที่ผ่านมาตลาดหลักคือมาเลเซีย ช่วงโควิด-19 ระบาดมาเลเซียลดการสั่งซื้อ กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดโครงการในการที่จะช่วยนำเงินมาชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพริกเขียวมัน กิโลกรัมละ 5 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้พอยังชีพได้ในช่วงวิกฤตปัจจุบัน ส่วนฟักทองในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้ร่วมกันจัดหาผู้มารับซื้อฟักทองจากเกษตรกรโดยตรง สามารถช่วยระบายฟักทองได้จำนวนมากถึง 400 ตัน การปล่อยคาราวานขบวนฟักทองดินเหนียว "หนึ่งเดียวในไทย" เชื่อมใจเกษตรกร สู้ภัยโควิด-19 วันนี้ คาราวานรถฟักทองจะเดินทางมุ่งตรงสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อกระจายไปสู่ผู้บริโภคต่อไป ด้านนายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดรายงานสถานการณ์ผลผลิตเกษตรที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหามายังสำนักงานทุกวันศุกร์ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการ และได้เร่งรัดให้สำนักงานเกษตรอำเภอ ประชาสัมพันธ์การขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกชนิดพืชและเป็นปัจจุบันทุกฤดูกาลผลิต เพื่อประเมินสถานการณ์ อย่างกรณีพริกเขียวมันในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และบางส่วนของอำเภอระโนด กระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา นั้น ยังขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ครบถ้วน เนื่องจากเกษตรกรอาจจะเห็นว่าเป็นพืชอายุสั้น หรือพืชเสริมหลังการทำนา ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลมาวางแผนการตลาดและการช่วยเหลือ ได้กำชับ จังหวัดไปแล้ว สำหรับปัญหาเรื่องการขอรับรอง GAP ในไม้ผลเศรษฐกิจหลักทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ มังคุด ทุเรียน ลองกอง และเงาะ โดยเฉพาะทุเรียน และมังคุด ซึ่งส่งออกไปต่างประเทศ นั้น หน่วยงานได้เชิญเกษตรจังหวัด ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อหารือการดำเนินการร่วมกันไปแล้ว นอกจากนี้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตตามมาตรฐาน GAP และเข้าสู่การยื่นขอรับรองให้ได้มากที่สุด สำหรับการบริหารจัดการมังคุด ปี 2564 ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกมังคุด 242,522 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 228,814 ไร่ ผลผลิตประมาณ 155,538 ตัน ขณะนี้อยู่ในระยะคาบไข่ ดอกบาน และเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเล็กน้อย มังคุดมีหลายรุ่น เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม และจะเก็บเกี่ยวได้มากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาสำนักงานได้จัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตมังคุดในภาคใต้ไปแล้ว 1 ครั้งที่จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยวางแผนผลิตมังคุดคุณภาพตั้งแต่ต้นฤดูกาล การผลิตมังคุดนอกฤดูในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช การพัฒนาคุณภาพเข้าสู่มาตรฐาน GAP และเชื่อมโยงผู้ประกอบการเตรียมรับสถานการณ์ผลผลิตที่กำลังจะออกมา ซึ่งภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้จากนี้ไปจนถึงประมาณเดือนตุลาคม 2564