เกษตรปัตตานีขับเคลื่อนการฟื้นฟูนาร้าง มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานภาคการเกษตร

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทน เกษตรจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์และเพิ่มศักยภาพการทำนาโดยเครื่องจักรกลทดแทนในพื้นที่นาร้าง ณ อาคารกองทุนหมู่บ้าน บ้านพอเหมาะ หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรเข้าร่วม ในการนี้ ได้ร่วมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโดยนางนพวรรณ แก้วมณี เกษตรอำเภอสายบุรี

นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทน เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดปัตตานีมีเกษตรผู้ปลูกข้าวนาปี จำนวน 16,453 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ 75,518 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 448 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวม 15,127 ตัน/ปี เกษตรกรผลิตเพื่อบริโภคและจำหน่ายในและนอกพื้นที่ จากการประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่งผลให้การทำนาในพื้นที่ลดลงเกิดพื้นที่นาร้างเพิ่มมากขึ้น และตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในการลงพื้นที่พบปะประชาชนและเกษตรกรของจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ณ โรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการฟื้นฟูนาร้างในอำเภอสายบุรี จึงได้กำหนดการจัดงานรณรงค์และเพิ่มศักยภาพการทำนาโดยเครื่องจักรกลทดแทนในพื้นที่นาร้างในวันนี้ขึ้น เพื่อให้เกษตรได้เรียนรู้แนวทางในการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ มีการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลทดแทนการใช้แรงงาน การจัดนิทรรศการและให้ความรู้จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการแข่งขันปักดำข้าวเพื่อสร้างความรักความสามัคคีแก่ชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก

นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีได้มีการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทดแทนการใช้แรงงานแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ได้มีแผนในการสนับสนุนรถปักดำนา จำนวน 4 คัน เพื่อใช้ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 460 ไร่ ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอมายอ 100 ไร่ อำเภอแม่ลาน 300 ไร่ และอำเภอสายบุรี 60 ไร่ ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดระยะเวลาในการทำงาน ตลอดจนสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เนื่องจากการปักดำด้วยรถดำนาจะใช้ต้นกล้าที่มีอายุระหว่าง 15-20 วัน สามารถแตกกอได้ดีกว่าการปักดำด้วยคนซึ่งต้องใช้ต้นกล้าที่มีอายุ ระหว่าง 25-30 วัน ทำให้แตกกอได้น้อยกว่า เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพการทำนา ลดปัญหานาร้างในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป