18 ปี สถานการณ์ไฟใต้ กับบทบาท สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยืนหยัด ต่อสู้เคียงข้าง เพื่อสวัสดิภาพ และสวัสดิการครู วอนไม่ยกเลิก ว10


ปฐมบท ของสถานการณ์ความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ เหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 นับแต่นั้นเป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โดยกลุ่มขบวนการได้ก่อเหตุ ทั้งลอบยิง วางระเบิด วางเพลิง เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ก็คือ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ตอลดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ต้องสูญเสียชีวิตมากมายถึง 183 ราย บาดเจ็บสาหัส 162 ราย และทุกพลภาพ 11 ราย ถือเป็นการสูญเสียของบุคลากรทางการศึกษาอย่างยิ่งใหญ่ อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถึงอย่างไร ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ก็ไม่สิ้นหวัง เพราะตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ผนึกกำลังครูในพื้นที่ ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เพื่อช่วยเหลือครูได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จนนำมาซึ่งเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ รวมถึงต่อสู้เพื่อสวัสดิการ และสวัสดิภาพของครูในพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้กับครูในพื้นที่ ได้ร่วมกันพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการศึกษาที่ดี  

และเมื่อวันที่ 20 ม.ค.65 ที่ผ่านมา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี งาน “รำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12” จัดโดย สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมด้วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ว่าราชการจงหวัดปัตตานี ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 300 คนร่วมงาน โดยภายในงาน มีกิจกรรม พิธีทางศาสนา ทั้ง ศาสนาพุธ และ มุสลิม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับครูผู้วายชนในเหตุการณ์ความไม่สงบ มีกิจกรรมรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ และการแสดงนิทรรศการเพื่อยกย่องครูที่วายชน การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทางสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ และครูในพื้นที่ ยังไม่ลืมคุณงามความดี ที่ครูเหล่านั้น ได้เสียสละ อุทิศตนทั้งแรงกาย แรงใจ สร้างคุณูปการ ให้กับการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ว่าท่านเหล่านั้นจะเสียชีวิตแล้ว แต่ครูก็ยังไม่ลืมกัน โดยในงาน มีพิธีที่สำคัญอีอย่าง ก็คือ การวางดอกไม้เพื่อแสดงการรำลึก ครู ผู้วายชนจำนวน 183 ราย

ด้านนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เนื่องในวันครู วันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ในฐานะสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากจะกล่าวถึงสถานการณ์ครบรอบ 18 ปี สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นกับครู และบุคลากรทางการศึกษา นับตั่งแต่ ปี 2547 เป็นตนมา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครู ไม่เคยคิดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะมีผมต่อความสูญเสีย อันยิ่งใหญ่ต่อบุคลากรทางการศึกษา มากมายถึง 183 ราย บาดเจ็บสาหัส 162 ราย ทุกพลภาพ 11 ราย รวมถึงความสูญเสียทางด้านจิตใจ ความระทดใจ ความปวดร้าว ที่เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น นับตั้งแต่ปี 2547 รายแรกที่สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องสูญเสีย คือ ครู นายใจ อินกะโผะ ครู โรงเรียนศาสน์สามัคคี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สมาพันธ์ครูฯไม่เคยคิดว่า เหตุการณ์เหล่านี้ จะบานปลายจนถึงปัจจุบัน สมาพันธ์ครูฯ ได้ก่อตัวขึ้นมา ก็เนื่องมาจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทางด้านจิตใจ ขาดที่พึ่ง ขาดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ก็เลยมีเป้าหมายคือ สมาพันธ์ครูจะต้องเรียกร้อง ดูแลครู ให้มีสุขภาพชีวิตที่ดี ทางด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการ ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ การก่อตัวสมาพันธ์ครู เริ่มดำเนินการเรียกร้อง ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ จะเป็นการบอกเล่า เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานของเอกชน หรือพี่น้องประชาชน ในช่วงที่เหตุการณ์รุนแรงในช่วงปี 2550 – 2551 เป็นช่วงที่ครูต้องเสียชีวิตปีละไม่น้อยกว่า 27 ราย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความระทดใจ มีความท้อแท้ มีความกลัว มีความวิตกต่อสถานการณ์ ไม่รู้ว่าใครจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบ ทางสมาพันธ์ฯได้แต่ประคับประคอง และให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้กับครูในพื้นที่ จนกระทั่ง ผ่านรัฐบาลมาหลายรัฐบาล มีมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2553 หลายๆ เรื่องที่ทางสมาพันธ์ครูได้เรียกร้อง มีผลสำฤทธิ์ ส่งผลให้ครู มีขวัญกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องได้รับเงินเสี่ยงภัยรายละ 3,500 บาท การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษ หรือที่เรียกว่า เลื่อนขั้น ศอ.บต. 25 เปอร์เซ็นต์ การเลื่อนวิทยฐานะ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ หรือที่เรียกว่า ว10 ให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี การบรรจุทายาทของครู ให้ได้เป็นครู เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งเกิดจากความสูญเสียของสถานการณ์ และสุดท้าย กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ ท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มทายาทจำนวน 162 ราย จากครูผู้สูญเสีย 183 ราย แต่มติของคณะกรรมการได้ออกอนุมัติ 162 ราย จำนวนรายละ 4 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับ ทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยทายาทรายแรก ก็คือ ทายาทของครู จูหลิง ปงกันมูล ที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มอบเงินเยียวยา ให้กับทายาทจำนวน 13 ราย ที่ จ.ปัตตานี ซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของท่านตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ทางกระทรวงศึกษาธิการ พี่น้องเพื่อครู และสมาพันธ์ครูฯ ไม่เคยทอดทิ้งเพื่อนครู และวันนี้อยากเรียกร้องผ่านทางสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสวันครูว่า

ประการแรก อยากให้กระทรวงศึกษาธิการได้ทบทวน การยกเลิกเกณฑ์ ว10 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เกิดขึ้นจากวิกฤติของสถานการณ์ ไม่ใช้เกณฑ์ปกติ เกณฑ์นี้เกิดขึ้นเพราะคนในพื้นที่ พบกับความสูญเสีย เสียชีวิต บาดเจ็บ และไม่สามารถปฏิบัติงานได้ปกติได้เหมือนพื้นที่อื่น เพื่อชดเชยเยียวยาเพื่อให้ครูเหล่านี้ได้มีขวัญและกำลังใจ จึงได้เกิดเกณฑ์ ว10 ขึ้นมา ซึ่งเป็นเกณฑ์เชิงประจักษ์ ประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากสภาพจริง อยากให้ ก.ค.ศ. ซึ่งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชะลอในการยกเลิกเกณฑ์นี้ไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ประการที่ 2 อยากให้รณรงค์ให้มีการดูแลด้านความปลอดภัยครู ทางด้านสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แผน รปภ.ครู หรือแผนยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้เป็นแผนที่สามารถปรับ ยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของครูในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น
และ ประการที่ 3 อยากจะให้การเยียวยาในส่วนที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น กรณีเสียชีวิต ทุกพลภาพ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางสมาพันธ์เรียกร้องกันมา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากจะฝากไว้ ให้ทางสื่อได้ ช่วยเป็นสื่อกลางนำความต้องการของครูในพื้นที่ สื่อไปยังผู้รับผิดชอบว่า ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ด้วยอุดมการณ์ และจิตวิญญาณ 18 ปี ที่พบกับความสูญเสีย พบกับความเศร้าใจ พบกับความกลัว ถึงสถานการณ์ในวันนี้จะดีขึ้น ได้เห็นประกายความสำเร็จเกิดขึ้น ก็อยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ดูแลครูอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ก็ต้องขอขอบคุณทุกฝ่าย

นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอยึดมั่นว่า ครูได้เป็นครูที่ทำหน้าที่เพื่อการศึกษาโดยแท้จริง และทางสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีมุมมองว่า การศึกษาเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหาระยะยาวได้ ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ พื้นที่จะเป็นพื้นที่สันติสุข อยู่ด้วยกันท่ามกลางความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ความแตกแยกไม่ได้อยู่ในกลุ่มเรา เรามีแต่ความรักความเข้าใจ ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม