FOOD SYSTEM HEROES 2021เปิดพื้นที่เยาวชน จชต.กับการประชันไอเดียร่วมออกแบบนวัตกรรมชุมชนยกระดับตลาดสดเทศบาลวิถีใหม่

FOOD SYSTEM HEROES 2021เปิดพื้นที่เยาวชน จชต.กับการประชันไอเดียร่วมออกแบบนวัตกรรมชุมชนยกระดับตลาดสดเทศบาลวิถีใหม่

“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เดินในตลาดสดเทศวิวัฒน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยได้รับโจทย์จากโครงการ Food System Heroes ให้สำรวจปัญหาที่เกี่ยวกับระบบอาหารและตลาดสด ปัญหาแรกที่เจอกับตัวเองเลยคือ ตอนที่พวกเราไปถึงที่นั่น ด้วยความที่เราไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่คุ้นเคยกับตลาดแห่งนี้มากนัก เพื่อนที่มาด้วยกันก็ไม่ค่อยได้เดินตลาดด้วย เราเลยลองเริ่มต้นสำรวจปัญหาที่เกี่ยวกับเส้นทางการเดินจับจ่ายใช้สอยในตลาดสดที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ในฐานะของคนที่มาเดินตลาดสดครั้งแรก ก็จะเจอกับความยากลำบากในเรื่องของเส้นทางการเดินทางในตลาด เราเลยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จึงได้ทราบว่าบางจุดที่เป็นมุมอับ ทำให้ทำยอดขายไม่ค่อยได้ เพราะคนเดินเข้ามาไม่ถึง พวกเราจึงสงสัยและเริ่มสนใจเกี่ยวกับการออกแบบนวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยในเรื่องของการสร้างแผนผังในตลาดเทศวิวัฒน์ ท้ายที่สุดกลายเป็นไอเดียนวัตกรรมทางสังคมทั้ง 3 รูปแบบ คือบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โปสเตอร์ที่มี QR Code และป้ายบอกทางในตลาดนัด ทั้ง 3 แบบจะเป็นข้อมูลบอกเส้นทางและร้านค้าในตลาดสดเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่มาเดินและเอื้อต่อการเข้าถึงร้านค้าในตลาดสดอย่างทั่วถึง” นางสาวนิสริน แวยะ กล่าว

นางสาวนิสริน แวยะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี จากทีม Teenagers หนึ่งในทีมผู้ชนะการแข่งขันนำเสนอ (Pitching) ไอเดียนวัตกรรมทางสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวกับตลาดสดและระบบอาหาร ของจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนเพื่อต่อยอดไอเดียจำนวน 30,000 บาท

ในขณะที่เวทีการประชันไอเดียในครั้งนี้มีน้องๆร่วมเสนอนวัตกรรมทางสังคมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาระบบอาหารและตลาดสดเทศบาลเมืองทั้ง 3 จังหวัด คือเทศบาลปัตตานี เทศบาลนครยะลา และเทศบาลเมืองนราธิวาส โดยมีทีมเข้ารอบทั้งหมด 9 ทีม โดยจะมีทีมชนะจังหวัดละ 1 ทีมที่จะได้รับเงินรางวัลเป็นการสนับสนุนต่อยอดไอเดียทดลองทำนวัตกรรมตามที่ได้ลองออกแบบไว้ เวที Pitching จัดขึ้นที่ TK Park อุทยานการเรียนรู้ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

โครงการ Food System Heroes เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะนวัตกรรมทางสังคมที่นำโดยเยาวชนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารและตลาดสด เพื่อพลิกโฉมตลาดท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ที่ทันสมัย จัดโดยมูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ (Digital 4peace Foundation) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ด้วยความร่วมมือกับสามเทศบาลเมืองสามจังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างภาครัฐในระดับท้องถิ่นกับภาคประชาชนในการร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งยังจะสามารถสร้างตัวต้นแบบการเรียนรู้ระหว่างภาครัฐกับพลเมือง (Civic-state Learning Model) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City Network)

Renaul Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า “ ในช่วงที่น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมโครงการลงพื้นที่สำรวจตลาดสด ผมเองก็ได้มีโอกาสเดินทางมายังจังหวัดยะลา และได้เดินดูตลาดนัดด้วยตนเองเช่นกัน ผมได้มองเห็นและสัมผัสถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ว่าเป็นอย่างไร เรื่องของระบบอาหาร (Food System) นั้นเป็นปัญหาระดับโลกที่โยงใยเกี่ยวข้องมาถึงระดับท้องถิ่น การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ได้สร้างผลกระทบต่อระบบอาหาร ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม โครงการนี้สร้างพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอและร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ลุกขึ้นมามีบทบาทในการส่งเสียงและสะท้อนปัญหาเพื่อเป็นผู้นำในการสร้างเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นพลังที่มีความสร้างสรรค์และมีความยั่งยืน” Renaul Meyer กล่าว

วันนี้ เราให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่มันมีอยู่ในชุมชนหรือในเมืองของเราให้ดียิ่งขึ้น และไม่ใ่ช่เพียงเราคนเดียวที่ลงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราจะทำงานร่วมกับ UNDP หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เป็นพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพให้น้อง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่จะมาช่วยสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ อย่าง สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยอย่าง ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab และภาคเอกชนในเรื่องของการลงทุนที่จะทำให้การแก้ปัญหาจากไอเดียที่มาได้นั้นไปต่อได้ในอนาคต” นายมะรูฟ เจะบือราเฮง ผู้อำนวยการมูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ กล่าว

“จากหลาย ๆ ทีมในจังหวัดปัตตานี สู่ 3 ทีมสุดท้าย เพื่อหานวัตกรรมที่เป็นที่ 1 ถึงวันนี้ ถึงแม้ว่า NWD จะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในการแข่งขัน แต่พวกเราสามารถก้าวข้ามกับคำว่าทำไม่ได้ มานำเสนอนวัตกรรมที่อยากแก้ปัญหาและชนะใจตัวเองไปแล้ว ดีใจที่ได้เข้าร่วมการหานวัตกรรมการแก้ปัญหาให้พ่อค้าแม่ค้า และได้ความรู้มากมายจากโครงการตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา มันเป็นความท้าทายความคิดสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเรา ขอบคุณโครงการ ขอบคุณพี่ ๆ สต๊าฟที่น่ารักและดูแลพวกเราเป็นอย่างดี เกลาแล้วเกลาอีก เมนเทอร์ทีมที่เปรียบเสมือนเป็นผู้แข่งขันอีกคนซึ่งทุ่มเทมาก ขอบคุณทีมพี่ๆ น้องๆ ทีมอื่นๆ ที่มีโอกาสได้รู้จักกัน ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่พวกเราก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้ ช่วยเหลือกันและกันฟอร์มเป็น NWD จนถึงวันแข่งขัน และคงจะไปต่ออีกในสนามต่อไป ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าโอกาสไม่ได้มาหาเรา เราก็ต้องพุ่งหาโอกาส ตราบเท่าที่ยังมีไฟในการทำ" นางสาวแวฟารีดา เจะลี ผู้เข้าร่วมโครงการ จาก ทีม NWD จังหวัดปัตตานีกล่าว

สำหรับเยาวชนทั้ง 9 ทีม จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ ใช้เวลาร่วม 2 เดือน ตั้งแต่กันยายนถึงตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กว่าจะเดินทางมาถึงวันที่มีนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบอาหารตลาดสด โดยตลอดการฝึกอบรมเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมรากหญ้า (Grassroot Innovation) กิจกรรมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (Expert Meeting) และการลงพื้นที่สำรวจตลาดเพื่อทำความเข้าใจปัญหา ที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งในสถานที่จริง เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะสำหรับคนรุ่นใหม่ในการสำรวจปัญหาจากตลาดสดและระบบอาหาร และไอเดียการแก้ปัญหาที่เยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจอยากแก้ไขจะนำมาสู่นวัตกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์ทั้ง 9 โครงการที่ขึ้นเวทีนำเสนอไอเดียนวัตกรรมทางสังคม The Final Piching Day ในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาระบบอาหารและตลาดสดในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากจบการนำเสนอไอเดียนวัตกรรมทางสังคมแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่จะทำงานร่วมกันกับเทศบาลในพื้นที่ของตนเพื่อให้ไอเดียใหม่ๆ กลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้คน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยังยืนต่อไป