สกสค.ไม่ทิ้งครูช่วงโควิด 19 จัดโครงการครูช่วยครูต่อเนื่องปีที่ 2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ป่วย


นายบุญสม ทองศรีพราย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดปัตตานี ในฐานะ ประธานคณะทำงานโครงการ "ครูช่วยครู" พร้อมด้วยคณะทำงานและครูจิตอาสา ได้เดินทางลงพื้นที่ ทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี เพื่อออกเยี่ยมเยือน ครูที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ตามโครงการ "ครูช่วยครู" ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดปัตตานีที่ป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำนวน 29 ราย โดยเข้าเยี่ยมเยือน พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ป่วย โครงการครูช่วยครู ในครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ที่ทาง สกสค. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เจ็บป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา19 ทำให้ครูเหล่านี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น

ด้าน นายบุญสม ทองศรีพราย ผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค. จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ได้กำหนดให้มี โครงการครูช่วยครู เพื่อช่วยเหลือครูที่ป่วย และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ซึ่งในส่วนของสำนักงาน สกสค.จังหวัดปัตตานี ร่วมกับคณะทำงานและคณะจิตอาสา ได้ดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ.2563 มาด้วยดี ซึ่งในปีที่แล้ว โครงการครูช่วยครู สามารถเยี่ยมเยือนผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 32 ราย ซึ่งในจำนวน 32 ราย มีผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะด้านจิตใจ ด้านขวัญและกำลังใจมีอยู่ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยทางคณะ จิตอาสา และคณะทำงานได้ออกไปเยี่ยมเยือน อย่างทั่วถึง ทำให้ โครงการนี้เป็นที่ชื่นชม และเกิดความพึงพอใจของผู้บริบาล จากสภาพครูที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และขาดการไปเยี่ยมเยือน โครงการนี้ได้เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดไป และมีการเยี่ยมเยือนถึง 2 ครั้ง ในปีที่ผ่านมา และในปี พ.ศ.2564 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) โดยการนำของนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. พร้อมคณะผู้บริหาร ได้กำหนดให้มีโครงการครูช่วยครู ต่อเนื่องในปี พ.ศ.2564 เพื่อช่วยเหลือ ครูผู้ป่วยติดเตียง ครูที่ป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สำนักงาน สกสค.จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย คณะทำงานและคณะจิตอาสา ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการ โดยการเยี่ยมเยือนครูในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี รวมทั้งสิ้น 29 ราย ซึ่งแต่ละรายก็จะมีสภาพที่แตกต่าง ไม่ว่าจะด้านความเป็นอยู่ของผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะอยู่กับคู่ชีวิต และครอบครัว ซึ่งต้องดูแลกันอย่างต่อเนื่อง โดยบางครั้งก็จะพบว่า ความว้าเหว่ ความเดียวดายของผู้ป่วย และของผู้บริบาล ต้องการขวัญและกำลังใจ หรือปัญหาสภาพทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถช่วยเหลือครูที่ป่วยค่อนข้างมาก จำเป็นที่จะต้องใช้ปัจจัยในการซื้อหา ไม่ว่าจะเป็น แพมเพิส ยารักษาโรค หรือการรักษาพยาบาล ซึ่งโครงการครูช่วยครู ได้ตอบโจทย์ และได้รับเสียงสะท้อนจาก กลุ่มผู้บริบาล และสังคมรอบข้าง ตอบรับด้วยดีเสมอมา และอยากให้มีโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง สำนักงาน สกสค. จังหวัดปัตตานี ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ ส่งผลให้ในวันนี้ ครูที่ป่วยและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีขวัญและกำลังใจ ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเดียวดาย มีที่พึ่ง สอดคล้องกับสโลแกนที่ได้ตั้งใจไว้ว่า “ครูปัตตานีไม่ทิ้งกัน” เพราะผู้บริบาลเองต้องแบกภาระหนัก เนื่องจากครูบางรายป่วยก่อนเกษียณอายุ อาจจะป่วยด้วยโรค หรืออุบัติเหตุ หรืออาจะเกิดจากสถานการณ์ มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เดียวดายที่จะต้องดูแลผู้ป่วย ยังมีองค์กรที่ชื่อว่า สกสค. เข้าไปดูแล ทำให้ผู้บริบาลมีพลังและกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ชีวิตที่เหมือนจะไร้คุณค่า มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมองให้เห็นว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ถึงแม้ว่า คนที่เกษียณอายุราชการแล้ว และยังไม่เกษียณอายุราชการ มีความรู้สึกห่วงใยเพื่อนครูด้วยกัน โดยเฉพาะเพื่อนครูที่ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ครูเหล่านี้ก็เป็นจิตอาสาเข้าไป ทำหน้าที่ดูแลครูที่ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคณะทำงาน และคณะจิตอาสา จะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะตัวของผู้ป่วยเองก็ต้องป้องกันการติดเชื้อจากบุคคลภายนอก ประกอบกับ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่เสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่น ด้วยอุดมการณ์ และจิตวิญญาณ ที่จะดูแลครูเหล่านั้น ให้มีขวัญและกำลังใจ ในขณะที่ยังมีชีวิต ครูเหล่านั้นก็ต้องการเพื่อน เพื่อนไม่ทิ้งเพื่อน น้องไม่ทิ้งน้อง เครือญาติไม่ทิ้งซึ่งกันและกัน
ต้องขอขอบคุณ ท่านธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และคณะผู้บริหารที่อนุมัติให้มีโครงการดี ๆ แบบนี้เกิดขึ้นให้กับครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของครูเหล่านี้มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตที่ต้องการขวัญและกำลังใจ ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า หน่วยงานที่ชื่อว่า สกสค. เป็นหน่วยงานที่ดูแลครู ทางด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการอย่างมีคุณภาพ และทั่วถึง ซึ่งโครงการครูช่วยครู เป็นโครงการที่ทำได้จริง ลงพื้นที่จริง ไปถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียง ไปถึงกลุ่มผู้บริบาล และอยากให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับการประสานจาก สกสค.เข้ามาดูแลกลุ่มครูเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ครูเหล่านี้ได้มีที่พึ่งยามไม่สบาย หรือยามเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาทางด้านพยาบาล จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที และอยากให้เก็บข้อมูลของครูเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เช่น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี มีผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวนกี่ราย แต่ละรายไม่สภาพความเป็นอยู่อย่างไร และขาดแคลนเรื่องใด เพื่อจัดเก็บข้อมูลเป็นส่วนกลาง และนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ นำเสนอไปยัง สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับครูที่เกษียณอายุ หรือก่อนเกษียณอายุที่ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขอให้โครงการครูช่วยครู เป็นโครงการที่ถาวร และยั่งยืน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการครูช่วยครู

ด้าน นางสุภาพ ทองอินทร์ ภรรยาของนายดุสิต ทองอินทร์ ครูผู้ป่วยติดเตียง เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณโครงการครูช่วยครู ในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า เพื่อนครูไม่ทิ้งกัน ได้มาเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เพื่อนครูที่ป่วยในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่า การรับราชการจนถึงเกษียณอายุ โดยไม่ยอมเกษียณอายุก่อนกำหนด ถึงแม้ว่าจะได้เงินมากกว่า แต่ด้วยสามีมีอุดมการณ์ และอุดมคติ ที่อยากจะรับใช้ชาติจนวาระสุดท้าย ต้องขอขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือน ที่ไม่ทิ้งกัน ทำให้มีกำลังใจและ ทำให้รู้สึกว่า ครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติมา เมื่อเราอยู่ในภาวะที่มีความทุกข์ เราก็ยังมีเพื่อนครูที่คอยห่วงใย และไม่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เพื่อนครูได้มาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจกัน

ด้าน นางมัทนา ปลื้มสำราญ ภรรยาของ นายธำรง ปลื้มสำราญ ครูผู้ป่วยติดเตียง เปิดเผยว่า โครงการครูช่วยครู ช่วยให้ผู้ป่วย และ ผู้ดูแล มีกำลังใจขึ้นอย่างมาก ที่เพื่อนครูไม่ลืม ครูที่แก่ เกษียณอายุแล้ว โดยเฉพาะสามี เมื่อเพื่อนครูได้เดินทางมาเยี่ยมเยือน ทำให้สามีสดชื่น และมีกำลังใจขึ้นอย่างมาก เพราะสามีเองเคยทำงานท่ามกลางคนหมู่มาก แต่เมื่อต้องเจ็บป่วยขึ้น ก็ทำให้จิตใจ และกำลังใจทดถอยลง แต่เมื่อมีโครงการนี้ ทำให้ สามีได้พบกับเพื่อนครูอีกครั้ง รู้สึกมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป เพราะกำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับสามี โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้ สามีค่อนข้างที่จะอยู่ในอาการเหงา แต่เมื่อมีโครงการนี้ ทำให้สามีได้เจอกับพรรคพวก เพื่อนพ้อง ทำให้สดชื่นขึ้นอย่างมาก และยิ้มออกเมื่อเจอเพื่อน ตนจึงอยากให้มีโครงการครูช่วยครู ตลอดไป