"นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย เร่งวางมาตรการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย หลังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดน จากโรค โควิด-19

"นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย เร่งวางมาตรการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย หลังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดน จากโรค โควิด-19
เมื่อวันที่ 13 เม.ย.63 ที่ด่านศุลกากรสุไหงโกลก จ.นราธิวาส นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อหารือวางมาตรการเพื่อให้ความมั่นใจการช่วยเหลือดูแลคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสฯของประเทศมาเลเซีย ซึ่งยังมีอยู่จำนวนมาก โดยได้ระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู, นายด่านศุลกากรสุไหงโกลก, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส, ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ, ผู้แทนตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโกลก, ตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารในมาเลเซีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการการช่วยเหลือ
นายบูรฮันธ์ สะเม๊าะ ที่ปรึกษาของนายอันวาร์ สาและ ประธานกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในผู้ร่วมหารือ ได้เป็นตัวแทนกลุ่มแรงงานร้านต้มยำในมาเลเซีย ร้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในมาเลเซีย โดยกล่าวว่า ได้เปิดให้กลุ่มแรงงานลงทะเบียนออนไลน์เพื่อแสดงความจำนงต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 5,840 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ลงทะเบียนผ่านสถานฑูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และ ศอ.บต. รวมทั้งหมดประมาณ 8,000 คน
นายบูรฮันธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงที่มาเลเซียประกาศปิดประเทศ รัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนไทยที่ติดค้าง และให้โอกาสอย่างมาก เช่น ผู้ใช้แรงงานบางคนหนังสือเดินทางหมดอายุแล้ว แต่ยังอนุญาตให้อยู่อาศัยได้ เป็นการให้ความสำคัญกับแรงงานไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนตนเอง โดยก่อนหน้านี้สถานฑูตไทยได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงจะขอกลับประเทศไทย ซึ่งมีประชาชนจำนวนหนึ่งลงทะเบียนและทำตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด แต่เมื่อเดินทางไปถึงด่านชายแดนกลับไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ กรณีแบบนี้รัฐต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่าเล่นกับความรู้สึกของพี่น้องต้มยำ เปิดลงทะเบียนให้กลับ แต่พอกลับแล้วเข้าประเทศไม่ได้ มันทำให้ประชาชนผิดหวังต่อรัฐบาลมาก การเดินทางและการทำเอกสารทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แนวทางแก้ปัญหาคือรัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาคนละ 5,000 บาท/เดือน รวมระยะเวลา 3 เดือน เพราะหากรัฐช่วยเหลือเยียวยาแล้ว มั่นใจว่าจะมีคนจำนวนมากไม่เดินทางกลับไทย เพราะเขาเองก็มีความกังวลว่าหากกลับมาแล้ว เมื่อมาเลเซียเปิดประเทศ อาจจะเข้าไปทำงานในมาเลเซียลำบาก เพราะสถานการณ์โควิดในอาจจะยังไม่คลี่คลาย ซึ่งมาเลเซียน่าจะคลี่คลายก่อน จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยหาทางช่วยเหลือพี่น้องที่ยังติดค้างอยู่ในมาเลเซียให้ได้
นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า มาตรการในการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียในขั้นต้นรัฐบาลต้องรู้จำนวนตัวเลขที่แน่ชัดก่อน จึงต้องมีการสำรวจโดยการลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านทางสถานกงสุล หรือทางสถานทูตเพื่อที่จะรู้จำนวน เพราะเขาเหล่านั้นคือคนไทย จึงต้องดูแลในเรื่องของอาหารการกิน ค่าใช้จ่าย ตลอดจนถึงที่พักอาศัย เพื่อให้คนไทยในมาเลเซีย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียได้อย่างปกติ และหากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็สามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งตนจะนำข้อเสนอต่างๆ หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ 15 เม.ย.นี้ ส่วนจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อจัดการปัญหานี้ก็จะมีการหารือในที่ประชุม ครม.ฯ เช่นเดียวกัน
ผลจากการประชุม นายนิพนธ์ ได้มอบหมายให้กงสุลใหญ่โกตาบารู, กงสุลใหญ่ปีนัง และกระทรวงการต่างประเทศ จัดทําข้อมูลคนไทยในประเทศมาเลเซียที่รัฐต้องเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ สามารถดํารงชีพอยู่ในประเทศมาเลเซียได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย และขอความร่วมมือให้ฝ่ายความมั่นคง ให้ความสําคัญกับการข้ามพรมแดนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีช่องทางด่านข้ามที่ผิดกฎหมายมากถึง 96 จุด เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความมั่นคงและปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการผ่อนปรนเงื่อนไขสําหรับสินค้าเกษตรของประชาชนในพื้นที่ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในห้วงระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ขอให้ด่านศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาเนื่องจากอาจจะเกิดปัญหาการส่งออกไปยังต่างประเทศ และขอให้กระทรวงพาณิชย์ นําสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดไปจําหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่ขาดตลาด เช่น ไข่ไก่ และสินค้าที่มีแนวโน้มของราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร เพื่อให้สินค้าที่จำเป็นไปสู่มือประชาชนให้มากที่สุด