มนพร รมช.คมนาคม ปลื้ม นครพนมโมเดล หนุนวิทยุการบิน ส่งเสริมใช้โดรนเพื่อการเกษตร ลดต้นทุนแปลงนา
มนพร รมช.คมนาคม ปลื้ม นครพนมโมเดล โดรนเพื่อการเกษตร ลดต้นทุนแปลงนา
มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ปลื้มโครงการส่งเสริมเกษตรกรใช้โดรน เพื่อลดต้นทุนการเกษตร หลังคมนาคม จับมือวิทยุการบิน นำร่อง นครพนม โมเดล ทำแปลงนาข้าวสาธิต นำนวัตกรรมโดรนมาใช้ทำเกษตร สามารถลดต้นทุนนาข้าวไร่ละกว่า 5,000 บาท เพิ่มผลผลิตอีกเท่าตัว ลุยขยายสู่ชุมชน ทั้งประเทศ ตามโครงการ 1 ตำบล 1 โดรนเพื่อการเกษตร
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ที่ท่าอากาศยานนครพนม นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส.เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ตรวจราชการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร วันแรก กำหนดระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2568 ในส่วนของกระทรวงคมนาคม วันนี้ นอกจากจะติดตามการพัฒนาท่าอากาศยานนครพนม สกลนคร และอุดรธานี ผลักดันให้ เป็นสนามบินมีชีวิต เน้นความสะอาด สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และโชว์ความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น เชื่อมโยงการส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาเมืองรองเป็นเมืองหลัก
นอกจากนี้ ทางด้าน นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ร่วมกับ นายสุรชัย หนูพรหม รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. รวมถึง หน่วยงานเกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แถลงผลงานโชว์ความสำเร็จ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการส่งเสริมใช้โดรนเพื่อการเกษตร นำร่องพื้นที่แปลงนาข้าวสาธิต พื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เพื่อลดต้นทุนการเกษตร เน้นทำเกษตรแบบแม่นยำ จนสามารถลดต้นทุนการผลิตในแปรงนาข้าว ไร่ละกว่า 5,000 บาท และเพิ่มผลผลิตอีกเท่าตัว เตรียมขยายโครงการสู่ชุมชน ตามนโยบาย 1 โดรน 1 ตำบลเพื่อการเกษตร ของรัฐบาล
ทั้งนี้ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายวิทยุการบิน มาทำประโยชน์ให้กับประเทศ ในโครงการโดรนเกษตรปลอดภัย “นครพนมโมเดล” ในพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข22 บ้านพนอม ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ทั้งการใช้ห้วงอากาศอย่างปลอดภัย และการบินโดรนถูกต้องตามระเบียบ โดยผลสรุปเป็นไปตามเป้าหมายเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ภายหลังมีการนำโดรนเข้าใช้งานหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และการใช้นวัตกรรมเครื่องหยอดข้าวของวิทยุการบิน ในการเพาะปลูก ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนในด้านของปริมาณการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวลง 52 เปอร์เซ็นต์ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานเกษตรได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ โดยผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตพื้นที่ 22 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นกว่าการเพาะปลูกแบบเดิม 250กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ย 5,254 บาท ต่อไร่ คิดเป็นรายได้มากกว่าการทำนาแบบดั้งเดิม 2,509 บาทต่อไร่ ทั้งนี้จะมีการประสานกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อวางแผนขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ สนับสนุนนโยบาย 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีทำการเกษตร ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบเดิมให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน ลดการสัมผัสยาฆ่าแมลง เสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความยั่งยืนในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
/////////////////