กรมทางหลวงจัดปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย

          ที่ห้องประชุมใบคำ 1 โรงแรมใบบุญแกรนด์ อ.เมือง จ.เลย กรมทางหลวงจัดปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย โดยมีนาย กิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเมืองเลย เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายสุมิตร อนุนิวัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเลยที่ 1, นายอมรเทพ ภักสุธีโกศล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเลยที่ 2 (ด่านซ้าย), นายธันว์ สินธวาลัย ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทเลย ผู้แทนจากกรมทางหลวง เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ
          นายอาทิตย์ สืบศิริวิริยะกุล ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวว่า สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมในการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย รวมถึงศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรม ในการลงทุนของโครงการฯ เพื่อรวบรวม วิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกัน แก้ไข และสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
          ทั้งนี้โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย เป็นโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรที่แออัดและหนาแน่นในตัวเมืองเลย ซึ่งมีข้อจำกัดของเขตทางที่ไม่เพียงพอ และเหมาะสมในการขยายช่องจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดปริมาณการจราจรที่จะผ่านบริเวณตัวเมืองเลยโดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ และเป็นการเสริมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนของจังหวัดเลย เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง ทางสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ไทย-ลาว ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศ สอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ.2558-2565) เป็นแผนงานเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามมติครม.สัญจร ที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยพัฒนาพื้นที่ใหม่ และเพิ่มการเข้าถึงของชุมชนใกล้แนวสายทาง