เปิดวิสัยทัศน์ "ปัณณวัฒน์ (จเร) นาคมูล" สร้างนโยบายแบบมีส่วนร่วม "คณะก้าวหน้า" หวังปักธงสร้างอนาคตใหม่ให้ "อุตรดิตถ์"

อุตรดิตถ์ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่คาดว่าการแข่งขันในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งนี้ จะเป็นไปอย่างสนุกสนาน และได้ลุ้นกันจนบัตรเลือกตั้งใบสุดท้าย เจ้าของเก้าอี้เดิมที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนาน นาทีนี้ไม่ง่ายที่จะรักษาไว้ เพราะมีผู้ท้าชิงคนสำคัญจาก "คณะก้าวหน้า" คือผู้สมัครนายก อบจ.อุตรดิตถ์ เบอร์ 4 "ปัณณวัฒน์ นาคมูล" หรือที่ชาวอุตรดิตถ์รู้จักในชื่อเดิมคือ "จเร" ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

"ปัณวัฒน์" หรือ "จเร" มีประสบการณ์การเมืองท้องถิ่น เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) อ.ลับแล บ้านเกิด เขาคือนักสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเท่าเทียม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน หลายครั้งที่พี่น้องเกษตรกรในอุุุตรดิตถ์เจอปัญหาเรื่องราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เจอปัญหาเรื่องที่ดิน เจอปัญหาเรื่องโครงการภาครัฐที่จะส่งผลกระทบกับชีวิต ก็จะมีปัณณวัฒน์นี่แหละที่เป็นคนหนึ่งไปร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

"ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอุตรดิตถ์อยู่ในใจตนมาตลอด มีความคิดว่าทำอย่างไรว่าจะแก้ไขได้ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาลง อบจ. สิ่งที่ทำให้กล้าตัดสินใจลงสมัครในครั้งนี้ เพราะคุณธนาธร เพราะอาจารย์ปิยบุตร ประกาศเขย่าการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ บอกชัดเจนว่า ท้องถิ่นมีทั้งโอกาสและศักยภาพ ถ้าได้ผู้บริหารที่มีความสามารถจะเปลี่ยนท้องถิ่นได้ และคำว่า เปลี่ยนประเทศไทยเริ่มได้ที่บ้านเรา ทำให้มั่นใจมากขึ้น จึงกล้าเข้ามา อยากเปลี่ยนอุตรดิตถ์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่" ปัณวัฒน์ กล่าว

วันนี้ ในฐานะผู้สมัครนายก อบจ.อุตรดิตถ์ เบอร์ 4 "ปัณวัฒน์" ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เขาอยากเห็นการเมืองท้องถิ่นมิติใหม่ การเมืองท้องถิ่นที่แข่งขันกันด้วยนโยบาย ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่อำนาจและอิทธิพล และในการออกแบนโยบายของเขา ก็ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

งบประมาณ อบจ.อตรดิตถ์ กว่าปีละ 400 ล้าน รวมแล้ว 1 สมัยตกอยู่ประมาณ 1,600 ล้านบาท ถ้าปัณณวัฒน์ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จะถูกบริหารอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้ไปกับนโยบายที่เขาคิดออกแบบมา 5 เรื่องหลัก ดังต่อไปนี้

1. กระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูกต้องนั่นคือเรื่องความโปร่งใน ตรวจสอบได้ และการประชาชนมีส่วนร่วม เรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ประมูลงานแต่ละสัญญาของ อบจ.ต้องเปิดเผยให้หมด เพื่อให้ประชาชนได้ดูได้ว่าเงินภาษีของพวกเขานั้นถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง สมเหตุสมผลและเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ นี่เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ เรื่องการประชุมสภา อบจ.ก็ต้องถ่ายทอดสดให้สังคมได้รับรู้ ว่าคนที่ประชาชนเลือกไปแล้วทำอะไรบ้าง ส.อบจ. ที่เลือกมาแต่ละเขตทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่อย่างไร ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ หรือยกมือผ่านไม่ตั้งคำถามอะไรเลย นโยบายอย่างนี้เข้าไปแล้วทำได้ทันที ทำทุกนัดของสภา อบจ.

"นอกจากนี้ ข้อร้องเรียน ปัญหาต่างๆ จากประชาชน เราจะให้ความสำคัญโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ให้การตรวจสอบได้ว่าข้อร้องเรียนเข้ามานั้นถึงขั้นไหนอย่างไรแล้ว อยู่ในอำนาจ อบจ. หรือไม่อย่างไร และประชาชนก็สามารถติดตามเรื่องได้อย่างง่ายได้ผ่านเทคโนโลยี"

2. ทรัพย์สินของ อบจ. ที่มีอยู่แล้วต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่าเครื่องมือต่างๆ ของ อบจ.อุตรดิตถ์ นั้นมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นรถแบ็คโฮ รถบรรทุก เครื่องเจาะบาดาล ฯลฯ ทั้งนี้ จากการที่ตนเองเคยเป็น ส.อบจ. เรื่องอย่างนี้พี่น้องเกษตรกรมีความต้องการมาก ทั้งถนนหนทางเข้าสู่เรือกสวนไร่นาก็ต้องขอให้เข้าไปทำ ทั้งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลต่างๆ แต่ในยุคนั้นที่เป็นปัญหาคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หรือให้องค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ เช่น อบต. ตั้งงบประมาณมา ซึ่งตนเห็นว่าพี่น้องประชาชนไม่ควรต้องมีภาระเรื่องนี้ อบจ. ต้องนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชนกับประชาชน บริหารด้วยความรวดเร็ว ให้บริการได้ทันท่วงที

"ยังมีทรัพย์สิน อบจ.อื่นๆ อีกเช่น สนามกีฬาวันนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม เรามีนโยบายที่จะเข้าไปปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและยังพักผ่อนได้ด้วย เพิ่มอุปกรณ์การออกกำลังกายเข้าไปให้เหมาะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มลานอเนกประสงค์ไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ และเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวใช้ได้ด้วย เช่น สเก็ตบอร์ด ลานกิจกรรมกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ ฯลฯ ต้องให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ได้"

3. สาธารณสุข จากการที่มีโอกาสไปโรงพยาบาลจังหวัด ได้พบพี่น้องชาวอุตรดิตถ์ในอำเภอโซนบน เช่น อ.น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก ซึ่งเป็นผู้ป่วยมารักษาในจังหวัด ซึ่งแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่าจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปไกลสุดคือ อ.บ้านโคก ซึ่งอยู่ติดกับ สปป.ลาว ระยะทาง 180 กิโลเมตร ต้องเดินทางมารับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งไกลมาก นี่เป็นปัญหา เป็นความเดือดร้อน ทำให้เราเห็นว่าการบริการสาธารณสุขในจังหวัดไม่เท่าเทียมกัน เป็นปัญหาที่คิดอยู่ในใจกันมาตลอด

“ดังนั้นเราจึงอยากแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งแม้ว่าอุตรดิถต์จะเป็นจังหวัดเล็กๆ งบประมาณอาจไม่เพียงพอในการสร้างโรงพยาบาล อบจ.ได้ แต่เราสามรช่วยแบ่งเบาซึ่งที่คิดคือ ศูนย์สาธารณสุขที่ห่างไกลออไป อาจเริ่มที่ศูนย์เฉพาะด้าน เช่น ศูนย์ฟอกไต อาจอยู่กับท้องถิ่นไหนสักแห่ง หรือเป็นสนับสนุนไปที่โรงพยาบาลอำเภอ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน มีผู้สูงอายุเยอะ พื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่เข้าถึงการสาธารณสุข ที่เตรียมไว้ด้วย”

4. การศึกษา นอกเหนือจากเรื่องในหลักสูตรแล้ว การศึกษานอกห้องเรียนและคุณภาพชีวิตของนักเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาก็จำเป็น เราคิดว่าใช้งบประมาณปีละ 20 ล้านบาท สามารถทำให้ลูกหลานคนอุตรดิตถ์ โรงเรียนในสังกัด อบจ. 7000 กว่าคน มีอาหารเช้ากิน ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองและดูและเรื่องโภชนาการให้กับนักเรียนได้

"อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราได้มีโอกาศเปิดเวทีรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นนโยบายการศึกษาที่เขาอยากให้มีการสร้างศูนย์เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้ชื่อมาเสร็จสรรพว่า 'ศูนย์ค้นหาตัวเอง' เพราะคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เชื่อว่าการเรียนไม่ใช่ระบบอย่างเดียว แต่ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ดังนั้นไม่ว่าจะเรื่องดนตรี กีฬา เกษตร งานออกแบบ ฯลฯ ทุกอย่าง จะมีในศูนย์ค้นหาตัวเองและปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ เรายังเปิดพื้นที่ต่อยอดให้ได้มาแสดงออก ใครอยากทำอะไร มีพื้นที่ มีงบประมาณสนับสนุน ทั้ง 9 อำเภอ ในกรอบกติกาที่สามารถทำได้ ซึ่งนี่ก็เป็นนโยบายที่มาจากการรับฟังคนหนุ่มสาว"

และ 5. จบปัญหาหมาแมวจรจัด เรื่องนี้แม้จะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็เกิดจากการเปิดเวทีประชาคมของชาวอุตรดิตถ์ ประชาชนได้มามีส่วนร่วมพูดคุยถกเถียงกันแล้วก็เห็นว่าปัญหาหมาแมวจรจัดในจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ภาพความน่าสงสารที่สัตว์ถูกทำร้ายหรือปล่อยให้อดโซอย่างเดียว แต่ก็เป็นเรื่องสุขภาวะในชุมชน เป็นเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง เราจึงมีแนวคิดจะทำศูนย์พักพิงฟื้นฟูหมาแมวจรจัด ซึ่งศูนย์นี้งบประมาณไม่ได้ใช้มากมาย มีแค่เพียงพื้นที่ สร้างโรงเรือน ค่าอาหาร ค่าวัคซีน และค่าจ้างคนงาน รวมถึงต้องมีการประชาสัมพันธ์เรื่องความรับผิดชอบต่อสัตว์ให้กับคนในจังหวัดด้วย

นี่คือ วิสัยทัศน์ของ "ปัณณวัฒน์ นาคมูล" หรือ "จเร" ผู้สมัครนายก อบจ.อุตรดิตถ์ เบอร์ 4 ผู้ที่เชื่อว่าการเมืองไทยจะดีได้ ต้องเริ่มต้นที่ท้องถิ่น ที่บ้านเราเอง ประชาธิปไตยจะยั่งยืนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยระดับฐานรากซึ่งก็คือท้องถิ่นก็ต้องเข้มแข็งก่อน

20 ธันวาคมนี้ เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ชาวอุตรดิตถ์จะได้ร่วมสร้างอนาคตใหม่ให้อุตรดิตถ์ ผ่านคูหาเลือกตั้ง "เลือกแบบเดิมได้แบบเดิม เลือกแบบใหม่ก็ได้แบบใหม่" ปัณณวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลเพิ่มเติมผู้สมัครคณะก้าวหน้าดูได้ที่ : https://progressivemovement.in.th/local-election/

ผลิตโดย คณะก้าวหน้า โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 1768 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ช้ัน 5 ถนนเพชรบุรตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 ผลิตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 จำนวน 1 ชิ้น

Facebook : https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement Twitter : https://twitter.com/ProgressiveThai