สคล.จับมือเครือข่ายประชาคมงดเหล้านานาชาติจัด Workshop รับมือการตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังโควิดที่รุกหนัก ห่วงไทยแก้กฎหมายให้ผลิตเสรี

เมื่อวันที่ 28-30 ต.ค.65 ที่ผ่านมาที่ รร.เมอเวนพิค สุริวงค์ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายงดเหล้าและ สสส. ร่วมกับ Movendi International, IOGT-NTO Movement และ International Health Policy Program (IHPP) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของภาคประชาสังคมในนโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการดำเนินการของชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากการทำการตลาดของภาคธุรกิจและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปสู่แนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพหลังโควิด-19 ซึ่งมีเครือข่าย 10 ประเทศเข้าร่วมทั้ง สวีเดน บอสเนีย&เฮอเซโกวินา เซอร์เบีย มอนเตเนโก ศรีลังกา เมียนม่า สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเครือข่ายภาคประชาสังคมของไทย ทั้งนี้นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)ในฐานะผู้จัดงานกล่าวว่า การเร่งทำการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์หลังสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เน้นการโฆษณาและการขายผ่านออนไลน์ แบบ on-demand ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศแต่เป็นข้ามข้อบังคับระหว่างประเทศ (Marketing Cross Border) รวมทั้งทำการตลาดในกลุ่มเยาวชนโดยสนับสนุนงานดนตรี กีฬาศิลปวัฒนธรรม การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้เร่งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำมาตรการนโยบายที่มีประสิทธิภาพไปดำเนินการ SAFER 5 ด้าน ได้แก่ การห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขายเพื่อลดแรงจูงใจ, การขึ้นภาษีเพื่อสุขภาพ, การจำกัดการซื้อการขายให้ยากขึ้น, การลดผลกระทบจากการดื่มแล้วขับและการคัดกรองบำบัดรักษาเพื่อปกป้องประชาชนในประเทศจากการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์แนวใหม่ดังกล่าว จึงทำให้เครือข่ายงดเหล้า, สสส.ร่วมกับ IOGT-NTO Movement ได้เชิญเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแนวทางดำเนินงานเพื่อร่วมหยุดยั้งการตลาดของธุรกิจที่มุ่งแสวงกำไรบนความทุกข์ของสังคมและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานร่วมกัน

ด้าน Mr.Adis Arnautovic ผู้อำนวยการ Center for youth organization (CEM) ประเทศบอสเนียและเฮอเซโกวินา กล่าวว่า การดื่มเป็นค่านิยมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันจนเป็นเรื่องปกติและไม่มีใครที่คิดว่าเป็นปัญหา การตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาได้ตลอดเวลารวมทั้งในระบบออนไลน์ แม้ว่าจะมีการห้ามขายให้เยาวชน แต่ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติเท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะปกป้องเยาวชนและกลุ่มผู้หญิง ผู้นำรุ่นใหม่ในชุมชนต่างๆ ร่วมต่อสู้จนถึงระดับชาติ ร่วมกับภาครัฐและวิชาการที่พยายามทำงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่มีอุปสรรคด้านโครงสร้างรัฐบาลที่มีความซับซ้อนมากเพราะมีระบบการปกครองมากถึง 14 ระดับ ทำให้การทำงานกับภาครัฐค่อนข้างยาก แต่ก็พยายามนำเสนอผลการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์โดยเฉพาะแนวทาง SAFER ที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ในอนาคตดีขึ้นได้

ขณะที่ Dearak Song ผู้แทนจาก Cambodia Movement for Health (CEM) กล่าวว่า กัมพูชายังไม่มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการผลิต ทำให้สถานการณ์ด้านสังคม สุขภาพน่าเป็นห่วง ทั้งปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรง ผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งมีการออกสินค้าใหม่ๆ หลายยี่ห้อในช่วงหลังโควิด สามารถโฆษณาได้ตลอดเวลา มีการส่งเสริมการขายทุกรูปแบบชิงโชครางวัลทั้งบ้านหรู รถเก๋งสปอต ทองคำ สนับสนุนด้านกีฬา ดนตรี ทำ CSR ช่วยเหลือสังคมสร้างภาพลักษณ์ การซื้อขายไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ สถานที่ วันเวลา โดยหลายหน่วยงานตระหนักในปัญหานี้และกำลังร่วมมือกันแก้ไข ควบคุมการโฆษณาและชุมชนสามารถกำหนดระเบียบหรือ “ฎีกา” ในการควบคุมแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสยกระดับการขับเคลื่อนต่อไป   

ขณะที่ Mr.Pubudu Sumanasekara รองประธาน Movendi International กล่าวว่า องค์กรก่อตั้งมา 164 ปี มีสมาชิก 144 องค์กร จาก 55 ประเทศ เป็นกังวลกับการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยจากเดิมกฎหมายควบคุมฯปี 2551 ที่สามารถหยุดยั้งการตลาดของธุรกิจได้ดี แม้ธุรกิจจะปรับไปใช้ตราเสมือนโฆษณาแทนในปัจจุบัน แต่หากให้มีการโฆษณาได้ทุกรูปแบบย่อมไม่เป็นผลดีแน่นอนจะยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ดื่มและผู้ค้ารายใหญ่ได้ประโยชน์ ผู้ที่เสียประโยชน์คือสังคมจะเกิดผลต่อความรุนแรงในครอบครัว สังคม อุบัติเหตุทางถนน ซึ่งตอนนี้ประเทศต่างๆ พยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมให้มากขึ้น รวมทั้งควบคุมทางออนไลน์ แต่ประเทศไทยกลับจะเสนอแก้ไขให้กฎหมายอ่อนแอลง