เตรียมจัดงานใหญ่ปีใหม่กะเหรี่ยงโลก ครั้งที่ 1 ครั้งแรกในไทยที่หมู่บ้านแม่ต๋อม อ.อมก๋อย 26-27 ธ.ค.นี้ 14 ชาติ ร่วมแจม เชียงใหม่ 18 ธค.- ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายลอยพอ สุริยะบุปผา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และในฐานะประธานจัดการปีใหม่กะเหรี่ยงโลก ครั้งที่ 1 เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 26-27 ธันวาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ชาติพันธ์ุชนเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรมปีใหม่กะเหรี่ยงโลก ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ หมู่บ้านแม่ต๋อม ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยมีชนเผ่ากะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 17 จังหวัด และต่างประเทศ ทั้งทวีป เอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตเลีย และแถบอเมริกาเหนือ เข้าร่วมงานกว่า 14 ประเทศ จำนวนผู้ร่วมงานในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000-100,000 คน โดยงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการรำลึกถึงประเพณีอันดีงามที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเคารพ นับถือสิ่งสร้างธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่พวกเรานับถือ ขณะเดียวกันเป็นการสร้างสรรค์ความสามัคคี การสร้างความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในสังคมด้วยกันอย่างสงบสุข ทั้งนี้กิจกรรมภายในงาน เย็นวันที่ 26 ธันวาคม 62 เป็นพิธีเปิดงานเป็นทางการ โดยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด คืนวันดังกล่าวได้มีรายการมวยดังระดับแนวหน้าของไทย ซึ่งเป็นเชื้อสายชาวกะเหรี่ยงโดยตรง จำนวน 7-10 คู่ นอกจากนั้น ยังมีเวทีด้านนักร้องนักดนตรี มีนักร้องชื่อดังชาวกะเหรี่ยงหลายคน เช่น อนันต์ ไมค์ทองคำ และศิลปินอื่น ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน ส่วนคืนวันที่ 27 ธันวาคม เป็นพิธีเปิดแบบประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่ากะเหรี่ยง ก่อนพิธีเปิดมีการรำวง ซึ่งมึนักแสดงมากถึง 1,000 ชีวิต เพื่อต้อนรับแขกผู้มีเกียรติในงานปีใหม่กะเหรี่ยงจากทั่วโลก ในครั้งนี้ จากนั้นมีการประกวดสาวงามที่เป็นเชื้อสายกะเหรี่ยงเท่านั้น นางงามที่ชนะเลิศจะได้รับมงกุฎพร้อมเงินสด 100,000 บาท อันดับสองสายสะพายกับเงินสด 70,000 บาท และอันดับ 3 เงินสด 50,000 บาท ตามลำดับ นอกจากนั้นในงานมีนิทรรศการ การแสดงถึงวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของชนเผ่ากะเหรี่ยงในด้านต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนพี่ชาวไทยทุกกลุ่มทุกชนเผ่าตลอดจนนักท่องเที่ยว มาร่วมเที่ยวชมงานปีใหม่กะเหรี่ยงโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นครั้งแรกในไทยด้วย ทั้งนี้นายลอยพอกล่าวว่า งานปีใหม่กะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคมของทุกปี โดยจะยึดถือหลักปฏิทินดั้งเดิม อาศัยการดูเวลาข้างขึ้นข้างแรม ซึ่งแต่ละปีจะแตกต่างกันไป แต่ระยะเวลาห่างกันไม่มากนัก พิธีกรรมจะมีการเลี้ยงผี หรือเจ้าที่ เจ้าทาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่นับถือกัน โดยจะมีผู้นำทางฝ่ายจิตวิญญาณ ของหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น พุทธ คริสต์ และอิสลาม จะประยุกต์ใช้กันไปตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ หรือสภาพแวดล้อม ของสังคมนั้น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล หรือแต่ละกลุ่มนั้น ๆ โดยพิธีกรรมดั้งเดิมจะมีการผูกข้อมือให้กับคนในหมู่บ้าน จากนั้นผู้นำจิตวิญญาณ จะนำเหล้ามาเซ่นไหว้ เจ้าที่ เจ้าทาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาหมู่บ้าน ลูกบ้าน อวยพรให้ทุกคนในหมู่บ้านมีสุขภาพ พลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ปลอดภัยจากภัยตรายต่าง ๆ ตลอดจนการมีทรัพย์สินเงินทอง สามารถปลูกพืชผลนานาพันธุ์ มีความเจริญงอกงาม และการมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีโดยทั่วกันหลังเสร็จสิ้นคำอวยพร จะมีการดื่มสุราร่วมกัน ผู้นำหมู่บ้านทางจิตวิญญาณ จะไปประกอบทำพิธีอวยพรให้ลูกบ้านครบทุกหลังคาเรือน หลังจากนั้นจะมีการล้มสัตว์เลี้ยง เช่น หมู วัว ควาย ฯลฯ แจกจ่ายทำอาหารเลี้ยงกัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน การดำรงชีพ และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป จะขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนจะตกลงกันอย่างไร โดยการใช้วิธีการแบบดั้งเดิมจะน้อยลง ยกเว้นในพื้นที่ชนบทจริง ๆ ยังมีให้เห็นอยู่โดยทั่วไปจนถึงปัจจุบันประวัติความเป็นมาชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ถิ่นฐานดั้งเดิมโบราณกาลของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศมองโกเลีย เมื่อกว่าหลายพันปีมาแล้ว ต่อมาได้หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ประเทศธิเบต และเมื่อถูกรุกรานจากกองทัพจีน ก็ถอยร่นลงมาทางใต้เรื่อย ๆ จนกระทั่งลงมาถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ในเขตประเทศพม่าปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันตกของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาทั้งสิ้น จำนวนประชากรปัจจุบัน ประมาณ 1 ล้านคนเศษ ซึ่งกระจัดกระจายทั่วไป ประมาณ 17 จังหวัด ส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย ติดต่อรัฐกะเหรี่ยงก่อทูเล และรัฐคะยา ซึ่งเป็นอีกแคว้นหนึ่ง ในประเทศเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้อพยพเข้ามาในอาณาจักรล้านนา ซึ่งสมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับประเทศสยาม หรือไทยในปัจจุบัน.