เพื่อสุขภาพที่ดีเราควร "ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร"

ในร่างกายของแต่ละคนจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ๆ ประมาณ 75% โดยอยู่ในลักษณะของเลือดและภายในเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่ขจัดของเสียและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ลำเลียงสารอาหารกับออกซิเจนให้เซลล์ ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย และรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ เราจะมาดูกันว่าเราควร "ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร"

1. ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับ
เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องขับของเสียออกมาทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเหงื่อ ปัสสาวะ หรืออุจจาระ อีกทั้งยังสูญเสียน้ำในรูปของลมหายใจด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งโดยปกติตามหลักสุขอนามัยนั้นควรดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร

2. ควรดื่มน้ำวันละกี่ลิตร
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้แนะนำการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน อันเป็นหลักการดื่มน้ำเพื่อสุขภาพที่ใช้สูตรมาตรฐานจากทางการแพทย์ ซึ่งใช้สำหรับวัดปริมาณการดื่มน้ำของแต่ละคนที่เกี่ยวกับความเสี่ยงการเกิดโรคนิ่วหรือโรคไต โดยมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน

สูตรคำนวณ น้ำหนักตัว (กก.) x 33 = ปริมาณน้ำที่มีหน่วยวัดเป็น cc
ตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 60 กก. ควรดื่มน้ำเปล่าวันละ 60 x 33 = 1,980 cc หรือประมาณ 2 ลิตร

สำหรับคนที่ออกกำลังกาย ทำงานหนัก อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อมาก ควรต้องเพิ่มปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวัน รวมทั้งผู้ที่มีสภาพร่างกายไม่ปกติเพราะได้รับสารเคมี เพื่อช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายนั่นเอง และยังเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรามีสุขภาพผิวดีขึ้น

3. น้ำเปล่าเหมาะสมที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็นหรือไม่เย็นก็ควรใช้เป็นน้ำเปล่าจะดีที่สุด โดยไม่ควรดื่มติดต่อกันทีละหลาย ๆ แก้ว เพราะจะทำให้เกิดอาการน้ำเป็นพิษ แต่ให้ใช้วิธีการจิบน้ำตลอดทั้งวัน ซึ่งช่วงแรกอาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อยบ้าง ด้วยเหตุผลที่ว่าร่างกายยังไม่ค่อยคุ้นชินเท่าไร แต่หากร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้วก็จะเป็นปกติ ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หัวใจและระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายมีประสิทธิภาพ

4. ผลเสียของการดื่มน้ำน้อยเกินไป
การดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือทั้งวันแทบจะไม่ดื่มเลยนั้น จะส่งผลให้มีอาการผิวแห้ง ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการท้องผูก และอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างเช่นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

สำหรับวิธีการดื่มน้ำอย่างถูกหลักคือควรดื่มครั้งละน้อย ๆ แต่ดื่มบ่อย ๆ ด้วยวิธีจิบน้ำทั้งวัน ก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที ให้ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว ก็จะช่วยลดความอยากอาหารให้รับประทานน้อยลง นอกจากนี้ควรมีน้ำเปล่าติดตัวไว้เสมอ เมื่อกระหายน้ำจะได้จิบทันที