พช. เดินหน้าจับมือ การยาสูบ (ยสท.) ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่การยาสูบแห่งประเทศไทย น้อมนำแนวพระราชดำริฯ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ชาวไร่ยาสูบรวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่การยาสูบแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมประชุมหารือ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย และคณะ ในการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามกลไกการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในพื้นที่ของยาสูบแห่งประเทศไทย ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา และต่อยอด ภายใต้แนวพระราชดำริ” เพื่อวางแผนในการพัฒนาคน พัฒนาทีม สร้างพื้นที่ต้นแบบ โดยมี ทีมที่ปรึกษา ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล หรือ อ.โก้ และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรือ อ.หน่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องรับรองอธิบดี ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเงินกู้เพื่อฟื้นฟูหลังโควิด-19 ให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กว่า 4,700 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 25,179 ครอบครัว กระจายอยู่ใน 3,246 ตำบล ทั่วประเทศไทยใน 73 จังหวัด โดยมุ่งหวังที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้คนไทยทุกคนว่า เศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ จะทำความเจริญและช่วยให้ประเทศชาติรอดปลอดภัย นอกจากนี้ โครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีต่อพี่น้องประชาชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ มีอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ส่ง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล หรือ อ.โก้ และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรือ อ.หน่า มาช่วยวางแผนและดำเนินงานตามโครงการฯ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยาสูบแห่งประเทศไทยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ในการเข้ามาสืบสาน สนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และการยาสูบแห่งประเทศไทย มีความพร้อมที่จะดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่น และจะเป็นแรงสนับสนุนให้กับกรมการพัฒนาชุมชนเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการยาสูบแห่งประเทศไทย จะร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" โดยการร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายและบริหารจัดการที่ดินของการยาสูบแห่งประเทศไทย สามารถที่จะปรับสภาพตามภูมิสังคม ตามบริบทแวดล้อมเพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อที่จะมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชาวไร่ยาสูบรวมทั้งพี่น้องประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่การยาสูบแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศต่อไป ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า ในการสร้างคนในพื้นที่ให้มีความรู้นำไปใช้ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ การทำเกษตรยุคใหม่ช่วยลดการบุกรุกป่า ลดการแออัดของประชากร ลดปัญหายาเสพติด ลดปัญหาสังคมน้อยลง เพราะคนอยู่ในชุมชนมากขึ้น กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ยังมีแผนการพัฒนาการเติมความรู้ให้คน โดยความรู้ 3 ชุด 1) ศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ 2) ภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละท้องที่ 3) นวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาคนส่งไปยังดูแลบ้านเกิดภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อไปพัฒนาฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรมของตนเองฟื้นฟูทุนเดิมที่มีอยู่ให้นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกลไกการสร้างความสามัคคีโดยการใช้จิตอาสาพัฒนาชุมชน ไม่ได้ใช้ทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้กรมฯ ยังได้เน้นย้ำในการสร้างคนการพัฒนาคน “สร้างคนให้เป็นครู” และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับตำบล ระดับพื้นที่ต้นแบบฯ ให้ทุกจุดที่เริ่มดำเนินการเป็นพื้นที่เป้าหมายโรงเรียนชุมชน เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ทุกคนสามารถเป็นครู Localization ซึ่งมาจากคำว่า “อนุรักษ์และพัฒนา” ซึ่งเป็นคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้ “พัฒนาคือสร้างสรรค์” แก่กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะนำ Localization นำไปแก้ปัญหา Globalization เริ่มจากพัฒนาคนให้รู้จัก “พอเพียง” เลิกแข่งขัน หันมาแบ่งปัน นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้คนในชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ได้ยกตัวอย่างพื้นที่ อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาวต่างชาติ ทำธุรกิจร่วมกับคนไทยด้านฝ่ายอินทรีย์ และการพัฒนาพื้นที่ในอุทยาน การทำงานระดับเด็กและเยาวชน (เด็กไทย และเด็กอินเตอร์) การทำงานยึดหลักศาสตร์ของพระราชาให้ถ่องแท้ก่อนนั้น โดยมีเป้าหมายชัดเจน ในเชิงกสิกรรมธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืช ยังมีสถาปัตยกรรมของพื้นที่ ศิลปวัฒนธรรม ต้องมีการวางแผนพัฒนาคน สร้างทีมคน ทีมครู ร่วมกันกับชุมชนโดยรอบด้วย เป็นการขับเคลื่อนในพื้นที่ มีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ แหล่งน้ำเดิม มองแผนพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ และเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1) มีพื้นที่ของศูนย์ ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 แห่ง และขยายผลต้นแบบจำนวน 21 แห่ง รวม 32 แห่ง ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” 2) เกิดการสร้างงานสร้าง รายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจำนวน 11 แห่ง และขยายผลต้นแบบจำนวน 21 แห่ง รวม 32 แห่ง ในระยะสั้น 5 เดือน (พฤษภาคม - กันยายน 2563) จำนวน 96 คนในอัตราคนละ 7,000 บาท/เดือน และมีการฝึกปฏิบัติเชื่อมโยงเครือข่าย ในพื้นที่ต้นแบบฯ และจุดขยายผลต้นแบบ ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี แห่งละ 7 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 224 ครั้งมีผู้เข้าร่วมแห่งละ 20 คน ต่อครั้ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นอย่างน้อย 4,620 คน 3) มีผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่งจำนวน 1,100 คนและจากเครือข่ายเจ็ดภาคีจำนวน 400 คนรวมทั้งสิ้น 1,500 คนในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและมีการสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” ดูจากกระบวนการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ตัวอย่างของผู้นำต้นแบบจำนวน 1,500 แห่ง (จาก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่งจำนวน 1100 คนและจากเครือข่ายภาคีจำนวน 400 คน แห่งละ 15 คนรวม 22,500 คน โครงการนี้สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาคน ดังนั้น คนที่กรมการพัฒนาชุมชนรับสมัครมาทำงานในแปลงเกือบหมื่นคนทั่วประเทศ รับเงินเดือน ๆ ละ 9,000 บาท 1 ปี เราจึงต้องเรียกผู้เข้าร่วมโครงการว่า “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” คือ คนที่เข้ามาร่วมทำงานในศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ไม่ใช่คนงาน ไม่ใช่ลูกจ้าง เจตนารมณ์นอกจากเรื่องรายได้และการเป็นเพื่อนคู่คิดของเจ้าของแปลงแล้ว เป้าหมายสูงสุดคือ ได้ learning by doing เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการปฏิบัติจริง โดยเริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมหลักสูตรเดียวกันกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและครัวเรือนเป้าหมาย เมื่อทำงานครบ 1 ปี ก็นำไปต่อยอดปฏิบัติจริงในครัวเรือน เป็นการฝึกทำงานให้รู้จริงให้ชิน นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม ของพื้นที่ยาสูบ ต้องมีการวางแผนในการพัฒนาคน ต้องสร้างทีมคน ทีมครู โดยทำความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ ควรดูแลศึกษาพื้นที่ก่อนลงมือทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือชุมชน คนที่ยากลำบาก คนยากจน ให้คนกลุ่มนี้เขามีรายได้ มีอาชีพ เลี้ยงชีพได้ เป็นแรงงานในการดูแลพื้นที่ของยาสูบ และดูว่าพืชชนิดใดบ้างที่สามารถปลูกได้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ จะก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แห่งความหวัง พร้อมเป็นพื้นที่เปิดรับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อแลกกับความสุข และความรู้ในพื้นที่ มีโฮมสเตย์ ที่พักผ่อน และเป็นแหล่งในการหาความรู้ของศาสตร์พระราชา เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนแก่โรงงานได้ อาทิ กัญชา สีที่มาจากธรรมชาติ คราม ส่งต่อไปยังการผลิตผ้าได้ หากผู้ว่าการยาสูบตัดสินใจเลือกพื้นที่มาเข้าร่วมนั้น ต้องวางแผนทำการเกษตร 2 ขา ร่วมด้วย ในการจัดทำ “โคก หนอง นา โมเดล” ส่งเสริมด้านการเกษตร จักได้ร่วมกัน MOU ในลำดับต่อไป ในการดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล” และการทำการเกษตร 2 ขา ในพื้นที่ที่ถูกคัดเลือก ต่อไปนั้นยังสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน มีภารกิจหลักในการพัฒนาผู้นำชุมชน องค์กรชุมชนและเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมไปถึงเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมลชนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันสังคมไทยประสบปัญหาสภาวะหนี้ ภาคครัวเรือนสูงขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารรวมทั้งปัญหาคนว่างงานจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดลซึ่งมีการดำเนินงานจำนวน 3 กิจกรรมคือ 1) การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล 2) การขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล 3) การเสริมสร้างและการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง นอกจากจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน”