วัดอินทาราม จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนเครือข่ายการสาธารณสงเคราะห์ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ จังหวัดสมุทรสงคราม “พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน”

          ตามที่ฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ได้จัดทำโครงการพระสงฆ์สาธารณะสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนการดำเนินงานผ่านมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางสาธารณสงเคราะห์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคม พัฒนาขีดความสามารถพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านงานสาธารณะสงเคราะห์ โดยคัดเลือกพระสงฆ์ต้นแบบตามเขตการปกครองคณะสงฆ์ระดับหน หนละ 5 พื้นที่ สำหรับคณะสงฆ์หนกลาง ได้เลือกจังหวัดสมุทรสงครามเป็นต้นแบบ
          ดังนั้นที่วัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จึงได้จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนเครือข่ายการสาธารณสงเคราะห์ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ จังหวัดสมุทรสงคราม โดยพระภาวนาวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง นำคณะสงฆ์กราบนมัสการ พระเทพสิทธิวิมล เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ พระอารามหลวง ที่มาเป็นประธานมอบเกียรติคุณให้กับคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และพุทธศาสนิกชน ที่ร่วมดำเนินการโครงการในนามเครือข่ายจังหวัดสมุทรสงคราม รวม 79 เครือข่าย ก่อนจะให้โอวาทให้คณะสงฆ์ดูแลประชาชน และเป็นประธานมอบเงินทุนและสิ่งของที่ได้รับการสนับสนุนจาก พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ, ดร.หลวงพ่อแดงนันทิโย รองประธานหนกลาง สมัชชาพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 รุ่นที่ 2 , รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม  ประกอบด้วย ข้าวสารให้อำเภออัมพวา, อบจ.สมุทรสงคราม, สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สมุทรสงคราม และ อบต บางคนที แห่งละ 200 ถุง, มอบปัจจัยสนับสนุน ร.ร.วัดเสด็จ 20,000 บาท, ร.ร.ถาวรวิทยา และ ร.ร.วัดแก่นจันทร์แห่งละ 10,000 บาท, ทุนสนับการศึกษา มจร 50,000 บาท, ทุนการศึกษาระดับ ปริญญาเอก 60,000 บาท ปริญญาตรี 5,000 บาท มอบทุนสนับสนุนเครื่องเสียง รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ 38,000 บาท และชุดไฟฟ้าโซล่าเซลล์ ร.ร.ถาวรวิทยา 111,000 บาท และ ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี 151,000 บาท
          จากนั้นได้มีการเสวนาทางวิชาการ เพื่อสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายสู่ความยั่งยืน ในรูปแบบในห้องประชุม และถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ โดยมี รศ.ดร.สุรพล สุยะพรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ผอ.หลักสูตรบัณฑิตศึกษา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มจร.เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีพระมงคลวชิรากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์มหาเถรสมาคม, พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ, ดร.หลวงพ่อแดงนันทิโย รองประธานหนกลาง สมัชชาพระสงฆ์ผู้นำขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 รุ่นที่ 2 , รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม, พระครูธรรมธรไพบูลย์ ญาณวิปุโล เจ้าอาวาสวัดประทุมคณาวาส, รศ.ดร.วาสนา แก้วหล้า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, นางชยานี มัชฉาเดช พัฒนาการจังหวัดสมุทรสงคราม, นายนิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผอ.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน การร่วมเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้
          พระมงคลวชิรากร เปิดเผยว่า ภารกิจงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมมี 2 ภารกิจ คือ 1.โครงการพระสงฆ์เพื่อสังคม ซึ่งคณะสงฆ์ทั่วประเทศทำอยู่แล้ว, 2.โครงการสร้างภาคีเครือข่าย เป็นที่มาของการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่สาธารณสงเคราะห์ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ได้ติดตามผลงานของ ดร.หลวงพ่อแดง จนทราบว่าเป็นพระสงฆ์ที่ไม่ทิ้งประชาชน และเห็นภารกิจ ศาสนกิจที่มีผลงานเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นระบบเครือข่าย สามารถสืบต่อโครงการต่อไปได้ จึงเลือกพื้นที่วัดอินทารามแห่งนี้ เป็นพื้นที่พัฒนางานสาธารณสงเคราะห์ สร้างเสริมสุขภาวะ เป็นพื้นที่ต่อยอดให้คณะสงฆ์ในหนกลาง ได้มาเรียนรู้ และจะถอดองค์ความรู้หลวงพ่อแดงไปให้พระสงฆ์ ผู้ที่สนใจได้ศึกษาต่อไป
          นอกจากนี้ ดร.หลวงพ่อแดงยังได้จัดโครงการสาธารณสงเคราะห์นอกพื้นที่ ในจังหวัดสุรินทร์ โดยการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน, มอบโคกระบือให้เป็นทุน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โรงเรียนปลดหนี้ชาวนา จึงตั้งคำถามว่าทำอย่างไรภารกิจหลวงพ่อแดงจะบรรลุประสงค์ที่มั่นคงและยั่งยืน ทำไมหลวงพ่อแดงต้องไปสนับสนุนนอกพื้นที่, ทำไมต้องไปขยายเครือข่าย หาก ดร.หลวงพ่อแดงไม่ได้ทำต่อใครจะสานต่อ กระทั่งพบว่า ดร.หลวงพ่อแดงพบโอกาสถึงสาธารณสงเคราะห์ ว่าพื้นที่แห่งนี้ สามารถทำอย่างไรจะมั่นคงยั่งยืน จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่นักพัฒนาศาสนสงเคราะห์มหาเถระสมาคม ต้องการให้ทุกคนได้รู้ ร่วมสนับสนุนเคียงข้าง ดร.หลวงพ่อแดง ให้เห็นว่าท่านไม่ได้เดินเดี่ยว อีกทั้งโครงการพุทธเกษตร ที่ดำเนินการทำในสังคมชุมชน มาตั้งแต่ปี 2519 และจะทำตลอดไป ซึ่งให้เห็นว่าพระสงฆ์เผยแพร่ พระพุทธศาสนา ด้วยการศาสนาสงเคราะห์
          รศ.ดร.วาสนา แก้วหล้า กล่าวว่า สายสัมพันธ์ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สุรินทร์ยิ่งใหญ่ เพราะ ดร.หลวงพ่อแดงมองเห็นชาวนาจังหวัดสุรินทร์ มีความยากจน จึงอยากช่วยกระดูกสันหลังของชาติ ท่านเป็นนักปราชญ์ มีความรู้รอบตัว ท่านบอกว่าสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ แต่ทำไมขายข้าวไม่ได้ ทำนาปีได้แต่ฟางกับตอซัง ทำนาปรังได้แต่ซังกับหนี้ ท่านจึงอยากปลดหนี้ชาวสุรินทร์ จึงสนับสนุนวัว ให้กับชาวนา ตามโครงการ “คอกวัวอภัยทาน” และต่อยอดผู้จะรับวัวต้องขุดธนาคารน้ำใต้ดินปลูกกล้วย รวมทั้งห้ามขายห้ามฆ่าวัว เพื่อให้ชาวนามีอยู่มีกิน ต่อมาพัฒนาธนาคารโซล่าเซลล์ และท่านได้ซื้อที่ดิน 8 ไร่เศษ พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงยกระดับสู่โคกหนองนา และมีธนาคารปุ๋ยจากมูลวัว รวมทั้งก่อตั้งโรงเรียนชาวนาปลอดหนี้ จากนั้นข่าวสะพัดไปทั่ว ชาวนามากราบท่านและขอวัวจาก ดร.หลวงพ่อแดงจำนวนมาก นอกจากนี้หากใครไม่ชอบเลี้ยงวัว ดร.หลวงพ่อแดงยังคันเบ็ดตามรอยพระราชา เช่น บ่อแหนแดงไมโครฟินล่า, เลี้ยงกบทองคำ, ฟาร์มไก่สร้างเงิน, เลี้ยงสัตว์ต่างๆ , การปลูกพืชผักสวนครัว, ปลูกไม้ประดับเป็นอาชีพ, การเพาะดินเกษตร ตลอดจนการปลูกข้าว เป็นต้น ซึ่งอยู่บนคอกหนองนาที่หลวงพ่อได้สร้างขึ้นด้วย จนกระทั่งขยายผลมีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้ ดร.หลวงพ่อแดง เป็นนักคิดวิเคราะห์สังเคราะห์และพัฒนา ผลงานของท่านสร้างองค์ความรู้ ไว้ให้ประชาชน และชุมชน ส่งต่อไปยังจังหวัดต่างๆได้ ดังนั้นจังหวัดสุรินทร์จึงเป็นต้นแบบ ฐานรบ ทำสงครามกับความยากจนอีกแห่งหนึ่งด้วย

          นางชยาณี มัจฉาเดช. พัฒนาการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้มารับตำแหน่งได้รู้จัก หลวงพ่อแดงซึ่งท่านเมตตากับทีมงานพัฒนาชุมชนอย่างมาก ท่านเป็นพระนักพัฒนา ดังนั้นทีมงานพัฒนาชุมชนจึงกราบถวายชื่อ ว่า “ ธรรมมะวิเศษพัฒนา” หมายถึง ท่านทำเข้าสู่ธรรมชาติ ทุกอย่างคือธรรมะ วิเศษ คือ ทุกอย่างของทานที่ท่านทำรังสรรค์เป็นพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ท่านยกธงรบคลองโคนโมเดลต้นแบบโคกหนองนาน้ำเค็ม แบบอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลนและพืชพันธุ์ธรรมชาติของทะเล อย่างไรก็ตามสำนักงานพัฒนาชุมชน ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ ในการทำโครงการพิชิตความยากจน แก้ไขปัญหาความยากจน โดยหลัก บวร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน

          นายนิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผอ.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษา ภัยสุขภาพ พบว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ด้าน คือ 1.ด้านสุขภาพร่างกาย ประสานงานพลังภาคีเครือข่าย บ.ว.ร. นำโดย ดร.หลวงพ่อแดง ในการช่วยเหลือเยียวยา มีโครงการสนับสนุนมากมาย เช่น รถโรงทานเดลิเวอร์รี่ ผักปันสุข เรือปันสุข ธนาคารผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น, 2.ด้านจิตใจ ต้องอาศัยความเชื่อมั่น ความศรัทธา และหลักธรรมะ ในการเยียวยาสภาพจิตใจ โดยการนำของ ดร.หลวงพ่อแดง ซึ่งเป็นที่เคารพรัก จัดธรรมะเดลิเวอร์รี่ ออนไลน์ เตือนสติ ให้สติ สร้างสมาธิ สร้างความคิดอย่างรอบคอบในการใช้ชีวิต, 3.ด้านเศรษฐกิจ การเยียวยาที่ดีที่สุด คือการรู้จักพึ่งตนเอง ซึ่ง ดร.หลวงพ่อแดง ใช้หลักธรรมในการพึ่งตนเองผนวกกับศาสตร์พระราชา ในการรู้ทำ รู้ใช้ รู้เก็บออม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำโมเดล โคกหนองนา โคกหนองยา โมเดล เพื่อลดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ในชุมชน, 4.ด้านสังคม จากสถานการณ์ภัยบัติ โรคระบาด เกิดปัญหากับสังคมในหลายชุมชน ซึ่ง ต.เหมืองใหม่ก็เช่นกัน ความแตกแยก ความขัดแย้ง การรังเกียจ ผู้ป่วย ผู้สัมผัส ดร.หลวงพ่อแดงได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงดำเนินการร่วมกับสาธารณสุข ในการใช้หลักธรรมผนวกกับความรู้ทางด้านสาธารณสุข เพื่อดึงสติให้คนรู้คิด อย่างมีสติ 5.ด้านสัมพันธ์ภาพครอบครัว จากสถานการณ์ดังกล่าว จะพบว่า สัมพันธ์ภาพในครอบครัว ลดน้อยลง ผู้สูงอายุบางท่านต้องอยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานไม่กล้ากลับมาหา ปัญหาที่ตามมา คือเรื่อง การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ทั้งที่ปกติ และอยู่ในภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เกิดภาวะซึมเศร้า ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ดังนั้น ทีม บ.ว.ร. นำโดย ดร.หลวงพ่อแดง ได้ดำเนินงานติดตามเยี่ยมเสริมพลัง เยียวยาสุขภาพกายและจิตใจ ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน ปัญหาอุปสรรค จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ด้านบุคคล ความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ผิดต่อสถานการณ์ นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ของประชาชน แนวทางแก้ไข การดำเนินงาน ด้วยพลังภาคีเครือข่าย บ.ว.ร. การสร้างส่วนร่วมของชุมชน โดนอาศัยความเชื่อความศรัทธา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทีมงาน, 6.ด้านทรัพยากร ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่พบ คือเรื่องความขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ทั้ง คน เงิน ของ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้ได้ถูกแก้ไข และขับเคลื่อนงานต่อได้ไม่ติดขัด เพราะ ภาคีเครือข่าย บ.ว.ร. ที่นำโดย ดร.หลวงพ่อแดง ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่

          พระครูพิศิษฎ์ประชานาถ, ดร.กล่าวว่า การสาธารณสงเคราะห์ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ ของอาตมาดำเนินการตามภาระกิจ 5 ด้าน คือ 1.ด้านสงเคราะห์ ได้แก่ สงเคราะห์ผู้ประสบภัย, สงเคราะห์ผู้ทุกข์ยาก, สงเคราะห์ประชาชน, สงเคราะห์เยาวชน, 2.ด้านเกื้อกูล ได้แก่ เกื้อกูลเกษตรกรแม่กลอง, เกื้อกูลชาวนาไทย, เกื้อกูลชุมชน, เกื้อกูลประชาชน, 3.ด้านพัฒนา ได้แก่ พัฒนาธนาคารโคกระบือ, พัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน, พัฒนาโรงเรียนปลดหนี้ชาวนาไทย, พัฒนาแม่กลอง, 4.ด้านการบูรณาการ ได้แก่ บูรณาการหลักพุทธธรรม, พลังบวร, หลัก 5 ท., งานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และปราชญ์ชาวบ้าน และ ฐานข้อมูลหลัก ได้แก่ หนังสือ, บทความวิชาการ, วิจัย, สื่อสมัยใหม่ เฟสบุ๊ค ไลน์ ทั้งนี้ หลวงพ่อแดง ดำเนินการภายใต้แนวคิด "พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน" ยามมีลมหายใจก็จะทำต่อไป
          พระศรีธรรมภาณี,ดร.ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ,ดร. เป็นพระสงฆ์แกนนำสาธารณสงเคราะห์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต้นแบบของอาตมา ดังมาตั้งแต่อาตมาบวชใหม่ๆในเรื่องของการพัฒนาชุมชนและสังคม ช่วยประชาชน พร้อมทั้งปฏิบัติธรรมของท่าน บวชไม่นานก็สอบได้นักธรรมเอก เพียงแค่ 5 พรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทาราม แปลว่า “เป็นที่อยู่ของผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งถือว่าเป็นวัดสำคัญ ท่านพัฒนาตนด้วยการศึกษาจนจบปริญญาเอก ยิ่งมีความคิดพัฒนามากมาย คิดค้นโปรเจ็คมาอย่างต่อเนื่อง ท่านทำงานอย่างยิ่งใหญ่ ดูแลทั้งพระพุทธศาสนา, คณะสงฆ์, ประชาชน,ญาติโยม, ชาวบ้าน ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกประการ ท่านทำงานระดับประเทศ เป็นที่ไว้วางใจในระดับพระผู้ปกครอง ได้รับการอาราธนา เป็นคณะกรรมการคณะสงฆ์ทุกชุด ช่วยเหลือประชาชนทั้งในจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสุรินทร์โดยมี 5 ท.เป็นหัวใจ
        พระศรีธรรมภาณี,ดร. กล่าวว่า วัดอินทารามเป็นศูนย์บริการเฮลแคร์ที่ดี สั่งวัคซีน จัดหา ATK ให้ประชาชนเป็นแห่งแรก, สนับสนุนปัจจัย 1 ล้านบาทสร้างศูนย์ CI ให้ประชาชน และหลวงพ่อแดง,ดร.ยังเป็นเจ้า IT จัดเทศน์ธรรมะออนไลน์เป็นประจำทุกวัน 07.00 น. กับ 19.00 น. แม้จะเดินทางก็ยังไม่หยุด ทำให้ปัจจุบันมีธรรมออนไลน์กว่า 1,000 ตอน และยังใช้เครือข่ายส่งธรรมะออนไลน์ถึงญาติโยมสาธุชนทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่งประเทศ นอกจากนี้หลวงพ่อแดง,ดร.ยังดูแลประชาชนโดยให้อาหารทางกาย อาหารทางใจ และแนวทางถึงความสุขด้วยวิธีของ ดร.หลวงพ่อแดง และเมื่อประชาชนที่ช่วยเหลือดูแลอยู่ได้ ดร.หลวงพ่อแดงก็มีความสุข ซึ่งมีความสุขไปด้วยกัน อย่างไรก็ตามหลวงพ่อแดงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ สมดังพระราชทินนามที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานว่า “พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ” แปลว่า “พระผู้ที่เป็นที่พึ่งของประชาชน”