กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีรับฟัง ความคิดเห็นสาธารณะ 4 ภูมิภาค เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้าทางการศึกษา จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สู่การผลักดันนโยบายเร่งด่วนและการวางทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 ล่าสุดในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีเป็นครั้งที่ 2 ในภาคเหนือ ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีภาคีเครือข่าย นักขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้ จากภาครัฐ/ท้องถิ่นภาควิชาการ/วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคสื่อมวลชน เข้าร่วมจาก 13 จังหวัดในภาคเหนือ มากกว่า 120 คน นับเป็นก้าวสำคัญของการประกาศความร่วมมือเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในระดับภูมิภาค นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นวาระสำคัญของจังหวัดที่มีความสำคัญ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทของกสศ.ควบคู่ไปกับงานตามFunction ที่มีศึกษาธิการจังหวัด กศน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ วันนี้ ยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบ เด็กพิการ ด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก ต้องร่วมกันพาเด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะการแก้ปัญหา เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกล จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร เด็กไม่จำเป็นต้องเดินทาง แต่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของจังหวัดเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือ สนับสนุน เด็กเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ด้อยโอกาส หรือมีสถานะการเงินไม่ดี วันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สร้างเด็กให้มีคุณภาพ เราสร้างงานสร้างรายได้ ให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคง เพื่อสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองคุณภาพ ซึ่งการที่คนจะมีคุณภาพดี หมายถึงต้องมีการศึกษาดีก่อน ผมมองว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในเรื่องปูพื้นฐานชีวิตคนคนหนึ่ง เพื่อก้าวสู่การมีอาชีพที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี คนเราถ้ามีการศึกษาดี จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงร่วมใจ เราปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว เสียโอกาสไม่ได้อีกต่อไป นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15 กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ดูแล ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน เป็นวาระที่ทุกคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม ภาครัฐ เอกชน ทุกส่วน ทำงานร่วมกับกสศ. ในการรวมพลังทรัพยากร กระทรวงศึกษาในพื้นที่พร้อมขับเคลื่อนดูแล ดำเนินการ ทุกภาคส่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กศจ. การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นทิศทางเดียวกัน กสศ ทำงานร่วมกันผ่านกลไกตรงนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ไปถึงเด็กและเยาวชนโดยตรง ความเหลื่อมล้ำที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือ การขาดช่องทางเข้าถึงการศึกษาที่มีความหลากหลาย เด็กหลุดจากระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ด้วยจากภาวะเศรษฐกิจ หน่วยงานเข้าไปไม่ถึงดังนั้นต้องช่วยกันสนับสนุนให้เด็กๆ มีช่องทางการศึกษาที่หลากหลาย มีทางเลือก มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค อาจารย์ทวีศักดิ์ ธิมา โรงเรียนแม่ตะละวิทยา เชียงราย กล่าวว่า สำหรับเด็กๆในพื้นที่ห่างไกล ต้องเริ่มต้นจาก โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานการศึกษาที่เท่าเทียม พื้นราบถกเถียงกันเรื่อง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่เด็กๆบนดอยยังไม่มีทั้งไฟฟ้า อินเทอเน็ท สื่อการเรียนการสอนที่ใช้อยู่ในโรงเรียนเป็นสื่อออฟไลน์ สื่อกระดาษทั้งหมด สวนทาง กับการศึกษาสมัยนี้ เด็กไม่สามารถเข้าถึงโลกดิจิตัลได้เลย ขอให้รัฐลงทุนเรื่องอินเทอร์เน็ตบนพื้นที่ห่างไกล แม้จะเป็นการลงทุนที่สูงแต่เพื่อให้ได้ทรัพยากรทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียม นั้นคุ้มค่า นอกจากนี้ ควรมีวิธีการจัดสรรเงินรายหัวแใหม่ ที่คำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่ การเดินทาง ใช้ข้อมูลแวดล้อมในการพิจารณา นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต5 กล่าวว่า หลักประกันเรื่องทรัพยากรการศึกษานั้น สำคัญมาก ปัญหาสำคัญที่ผ่านมา เช่น 1.นักเรียนชั้นมัธยมต้น อาหารกลางวันยังไม่ได้ 2.การอุดหนุนงบประมาณ/ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ 3.โรงเรียนพื้นที่สูงห่างไกลหรือเกาะแก่ง เข้าไม่ถึงอินเทอเน็ต ไฟฟ้า ถ้าให้ดีที่สุด ควรปรับระเบียบแนวปฏิบัติ กำหนดสิทธิ เด็กมัธยมต้นทุกคนต้องได้รับค่าอาหารกลางวัน ปรับสูตรจัดสรรงบประมาณที่เสมอภาค เพื่อช่วยโรงเรียนพื้นที่ยากลำบาก โรงเรียนที่ดูแลเด็กเปราะบางหรือแม้แต่คนจนเมืองก็มีบริบทที่แตกต่าง รวมถึงการเติมครูให้พอ และมีกลไกในการพัฒนาครู ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาขนาดใหญ่ ถ้าเรารอจากระบบนานมาก เกินกำลังฝ่ายรัฐแบกไว้ ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เข้ามาช่วยกัน อาจารน์ เอมอร ลิ้มวัฒนา ครูชำนาญการ วิทยาลยชุมชนแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในพื้นที่สูง ห่างไกล ระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก สาธารณูปโภคเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า อินเทอเนต ไม่เสถียร ไม่เฉพาะบนดอย แต่รวมถึงในตัวเมือง ฤดูฝน ต้นไม้ล้ม ทำให้สายไฟขาด ฤดูร้อน ไฟไหม้สายไฟ ไปเคยดับต่อเนื่องสองวัน สายอินเทอร์เน็ต สายสัญญาณสื่อสารก็ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนและครอบคลุม ไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ “รัฐบาลลงทุนเรื่องนี้จะมีความคุ้มค่า ไม่ใช่จบรุ่นนี้ ถูกใช้ต่อเนื่อง เป็นการลงทุนที่มีผลต่อการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ ที่ผ่านมาของบประมาณไป กว่าจะได้งบประมาณ โลกเปลี่ยนไป อุปกรณ์ที่ขอไปก็อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้วดังนั้นควรพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย ”