โครงการวิจัย รู้คุณค่า 'ข้าว' เพื่อชีวิตและธรรมชาติ (1)

คณาจารย์และนักวิจัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวนำเสนอผลการศึกษา โครงการรู้คุณค่าข้าวอินทรีย์ ข้าวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ โดย รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย หัวหน้าโครงการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ณ แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ ราชดำริ กรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษาชิ้นนี้ สามารถเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายการผลิตข้าวของประเทศไทยในอนาคต

งานดังกล่าว เปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงแนวคิด เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับในสากล ทั้งมุมมอง การให้คุณค่ากับธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, แนวคิด การบริการระบบนิเวศ ผลกระทบการพึ่งพาสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่าอาหารจากภาคเกษตร ซึ่งประเด็นดังกล่าวมักถูกมองข้ามในแง่กระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ หรือ TEEB AgriFood โดย Prof.Salman Hussain Coorrdinator for The Ecocomics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB), ปาฐกถาเรื่อง การผลิตข้าวอย่างยั่งยืน โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แนวคิดการวิจัย เกิดขึ้นมาจากการตั้งข้อสังเกตบนพื้นฐานข้อมูลที่ว่า ข้าว คือ พืชอาหาร ที่มีความสำคัญต่อคนไทยหลากหลายมิติ ทั้งการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้วยความเหมาะสมของพื้นที่กับความเชี่ยวชาญของชาวนา ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกข้าวได้ขยายตัวไปกว่า 50 % ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด

ผลผลิตที่สูงถึง 30 ล้านตันต่อปีแบบนี้ กลับแลกมาด้วยระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ทั้งจากผลกระทบของมลพิษทางเคมีเกษตร วิธีการทำนาที่ไม่เหมาะสมได้ปลดปล่อยฝุ่น PM2.5  ขณะเดียวกัน ความแปรปรวนจากสภาพอากาศทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ได้นำไปสู่ความเสี่ยงของอาชีพชาวนา อาชีพที่เป็นดั่งกระดูกสันหลังของชาติ อาชีพที่มีสัดส่วนประชากรมากถึง 20 ล้านคน และยังคงต้องใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

คำถาม คือ "เราจะก้าวไปสู่วิถีการผลิตข้าวที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงได้อย่างไร ในขณะที่ยังคงบรรลุความมั่นคงทางอาหาร พร้อมกับส่งเสริมสุขภาพที่ดีขึ้นของชาวนาและทุก ๆ คน" โดย TEEB วางกรอบวิธีวิจัยเพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นประโยชน์และต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตข้าว ซึ่งถูกละเลยจากการมุ่งเน้นไปที่ราคาซื้อขายในตลาดเพียงอย่างเดียว โดยใช้วิธีการวัดหาต้นทุนการผลิตแฝง และค้นหาดัชนีชี้วัดคุณค่าของข้าวจากปัจจัยหลัก 4 ด้าน

1.ทุนทางธรรมชาติ วิเคราะห์คุณภาพดินและน้ำ, ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในนาข้าว, วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วัดมลพิษในอากาศ ปริมาณฝุ่น PM10, PM2.5

2.ทุนทางเศรษฐกิจ สำรวจภาระหนี้สินและเงินออกของชาวนาทั้ง 2 แบบ, ประเมินการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องจักรกลทางการเกษตร

3.ทุนทางมนุษย์ วัดมูลค่าข้าวที่ขายได้เมื่อเปลี่ยนจากข้าวดั้งเดิมเป็นข้าวอินทรีย์, ประเมินต้นทุนที่ลดลงจากการเปลี่ยนจากทำนาทั่วไปเป็นนาอินทรีย์, คาดการณ์ต้นทุนการรักษาโรคในอนาคตที่เกิดจาก PM2.5

4.ทุนทางสังคม จัดประเภทและจำนวนกลุ่มที่ชาวนาเข้าร่วม, บทบาทในกลุ่ม, ใช้แบบสอบถามเพื่อวัดระดับความสุขในมิติด้านครอบครัว รายได้ และสุขภาพ

งานวิจัยครั้งนี้ กำหนดพื้นที่การเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน จากจังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวน 800 คน 60 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2563 - 2564

ผลลัพธ์งานวิจัยและข้อเสนอแนะเพื่อการกำหนดนโยบายการผลิตข้าว จะนำเสนอต่อไปในบทความที่ 2

ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการวิจัยฯได้ที่ Facebook : รู้คุณค่าข้าวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ

Facebook : https://www.facebook.com/profile.php?id=100075451256259