สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อม คณะทำงานจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนในการสร้างกระบวนการ ปัจจัยหรือเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงาน สู่การสร้างอำเภอบูรณาการสร้างสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยงของประชาคมเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ณ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน จากเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าวพบว่า การแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในพื้นที่ ดำเนินการโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สาธารณสุข ภาคประชาสังคม ภายใต้มิติแบบองค์รวม ใช้วิธีแก้ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจภายในครอบครัวดี จะไม่ก่อให้เกิดความเครียดและไม่หันไปดื่มสุราเพื่อดับความเครียดในที่สุด นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากรายงานของโรงพยาบาลเวียงหนองล่อง พบสาเหตุการฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาปัญหาสุรายาเสพติด โดยในปี 2562 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจากสาเหตุดังกล่าวถึง 3 ราย ขณะที่ประชากรมีประมาณ 1.5 หมื่นคนเท่านั้น นับเป็นสัดส่วนที่สูงทีเดียว ทั้งนี้ วงจรของปัญหาการดื่มสุรา ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนจนนำไปสู่การดื่มเพื่อดับความเครียด และอีกส่วนอาจชื่นชอบการดื่มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น การดำเนินงานของ สคล.ในการลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงจะทำแบบแยกส่วนกันไป สำหรับอำเภอเวียงหนองล่อง ปัญหาการดื่มอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตนั้น สคล.มีแผนจะสนับสนุนการสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน โดยจากเดิมชาวบ้านจะมีรายได้ทางเดียวจากการเกษตร เช่น ลำไย มะม่วง ซึ่งอาจต้องรอผลผลิตนานเป็นปี จึงมีรายได้เพียงครั้งเดียวจากผลผลิตตตามฤดูกาล แต่หากปีนั้นผลผลิตไม่ดี ราคาตกต่ำ หนี้สินก็ตามมา ดังนั้น หากมีการสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทาง มีรายได้เพิ่มขึ้น ทุกคนก็จะมีความหวังในชีวิต โดย สคล.มีเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติครูแสงจันทร์ (การเลี้ยงไส้เดือนกำจัดขยะ) การทำปุ๋ยไส้เดือน การทำน้ำหมักชีวภาพ และความรู้เกี่ยวกับเกษตรพอเพียงด้านอื่นๆ ของแม่ครูแสงจันทร์ มโนสร้อย ประธานชมรมคนหัวใจเพชร หมู่ 1 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ที่พร้อมในการให้ความรู้กับผู้สนใจนำไปสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้“ต้องสร้างความเข้มแข็งจากระดับครอบครัวขึ้นมา โดยภาคราชการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน ภาคประชาสังคมเราก็จะเชื่อมประสานให้หน่วยงานต่าง ๆ และชาวบ้านมาร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะหากมีภาระหนี้สินรุงรัง จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและนำไปสู่การดื่มเหล้า คนที่ฆ่าตัวตายเขาไม่มีทางออกเหมือนคนสิ้นหวัง แต่ถ้าเราสามารถช่วยสร้างอาชีพให้เขามีรายได้ก็จะทำให้เขามีความหวังในชีวิตขึ้นมา” นายธีระกล่าว ผจก.สคล. กล่าวด้วยว่า นอกจากการเสริมสร้างอาชีพเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจภายในครัวเรือนแล้ว สคล.ยังสนับสนุนให้เครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานโดยประสานความร่วมมือสร้างชุมชน สร้างคนเลิกเหล้าคนหัวใจเพชรและขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้นยังจะช่วยเป็นหูเป็นตาในการช่วยป้องกันไม่ให้คนที่มีแนวโน้มคิดสั้นสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ซึ่งแนวทางการทำงานในลักษณะนี้ สคล.จะทำควบคู่กันไป ด้าน พ.ญ.มัลลิกา โมกขะสมิต ผอ.รพ. อ.เวียงหนองล่อง กล่าวว่า ในส่วนการทำงานขับเคลื่อนการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของอำเภอเวียงหนองล่อง ทำงานภายใต้ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (คชอ.) มีพันธกิจร่วมกัน คือ ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของชาวเวียงหนองล่องมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ ทาง รพ.ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เป็นอำเภอต้นแบบขับเคลื่อนรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนำกระบวนการบำบัดมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดสุราด้วย พร้อมทำงานร่วมกับเครือข่ายของ สคล.โดยคนหัวใจเพชร คนหัวใจหิน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนจากผู้ป่วยมาเป็นคนต้นแบบในการรณรงค์ให้คนที่มีแนวโน้มจะเลิกเหล้า ช่วยเชียร์และเป็นกำลังใจให้คน ๆ นั้นเลิกเหล้าได้สำเร็จ ปัจจุบันเวียงหนองล่องมีคนหัวใจเพชร 52 คน และ คนหัวใจหิน 166 คน อย่างไรก็ดี จากปัญหาการฆ่าตัวตายของคนอำเภอเวียงหนองล่องอันมีสาเหตุมาจากสุรายาเสพติดมีสัดส่วนที่สูง ดังนั้น เป้าหมายของเราตอนนี้ คือ ต้องไม่มีคนฆ่าตัวตายในพื้นที่ ขณะที่ นายสืบศักดิ์ สุภิมาส นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง อ.เวียงหนองล่อง กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในพื้นที่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เฉพาะ อ.เวียงหนองล่อง เกษตรกรเป็นหนี้ ธกส.อยู่กว่า 1,200 ล้านบาท เป็นหนี้เสีย 24% ดังนั้น เทศบาลจึงมุ่งการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ก่อนเป็นหลัก สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ครัวเรือน ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนโครงการเกษตรอินทรีย์ มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามาร่วมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย ตั้งเป้าเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อครัวเรือน โดยดำเนินการใน 3 แนวทางคือ 1) พัฒนาการผลิต 2) ปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมเข้าไปในพื้นที่แปลง และ 3) ปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้ผลิตพืชหรือส่งเสริมการแปรรูปในครัวเรือนโดยมีตลาดรองรับ หวังว่าจะเป็นโครงการนำร่องที่ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากเขามีความหวังในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีการไปกระตุ้นให้เขาเลิกเหล้าก็สามารถทำได้ ด้านนางศรีพรรณ หมื่นปัญญา เกษตรกร ต.หนองล่อง ตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่แม้ปัจจุบันยังมีภาระหนี้สิน อยู่กว่า 1.2 ล้านบาทจากสวนลำไย แต่เมื่อหันมาประกอบอาชีพเสริมโดยศึกษาหาความรู้จากศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติครูแสงจันทร์ จึงเริ่มการปลูกหอมแดงและแปรรูปอาหารขาย สร้างรายได้เพิ่ม ปัจจุบันมีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวในทุกเดือน แม้จะมากบ้างน้อยบ้าง แต่การมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอมีกำลังใจสู้ชีวิต โดยยังกล่าวให้กำลังใจกับผู้มีสถานะลูกหนี้เช่นเดียวกับเธอ ว่า เราต้องสู้ ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง เริ่มแรกลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายก่อน หันมาทำเกษตรพอเพียง สร้างแหล่งอาหารให้กับครัวเรือน ทำบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว กินทุกอย่างที่ปลูก เราต้องพยายามทำทุกทางให้มีรายได้เข้ามาในแต่ละเดือน การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออก เพราะทุกอย่างไม่จบ คนข้างหลังก็ยังเดือดร้อนอยู่ดี เราต้องมีสติ หันมาสู้ดีกว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก