สกสว. จับมือ PMU จัดเวที ‘PMUs Knowledge Sharing’ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างทีมเวิร์คใน ‘นาวาวิจัย’ ที่แข็งแกร่ง

       สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับพันธมิตร หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง เปิดพื้นที่เรียนรู้ ‘Learning by Sharing’ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน สร้างความเข้มแข็งระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี

       เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “PMUs Knowledge Sharing” : การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการทำงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับหน่วยบริหารและการจัดทุน หรือ PMU ในประเด็นสำคัญ ทั้งการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม การติดตามประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากงานวิจัย การผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่าง PMU เพื่อเป็นประโยชน์ในการออกแบบแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

       โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า “พันธกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ สกสว. คือ การส่งเสริมความเข้มแข็ง ให้กับ PMU ทั้ง 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย PMU เดิม คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ PMU ใหม่ 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) ให้สามารถส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศฐานนวัตกรรมในทุกมิติ วันนี้จึงนับเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ PMU เพื่อให้การขับเคลื่อนระบบ ววน. มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย สกสว. จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการประชุม 2 วันนี้ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับพันธมิตรการทำงานที่เป็น Strategic Partner ต่อไป”

       ด้าน รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และที่ปรึกษาภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. สกสว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยโดยถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่เคยทำงานที่ สกว. ว่า “การจัดการงานวิจัยเป็นเรื่องของการจัดการคนหลายคนในเรือพาย ผู้ออกแรงหลักคือนักวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ (Users) เจ้าหน้าที่บริหารจัดการทุนหรือผู้ประสานงาน ไม่ต้องลงเรือวิจัย แต่ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะและองค์ความรู้ ตีโจทย์วิจัยออก มองภาพเป็น และต้องมองความเชื่อมโยงของโครงการนั้น ๆ กับเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ PMU ของตนมองได้ ผู้ทรงคุณวุฒิเปรียบได้กับนักปราชญ์ ทำงานร่วมกับผู้ประสานงาน ทำหน้าที่แนะนำนักวิจัยตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ให้นักวิจัยมีแผนที่จากการ “พัฒนาโครงร่างวิจัย (Proposal)” ผู้ทรงคุณวุฒิมองเป้าหมายของโครงการนั้นๆ แต่ PMU ต้องมองเป้าหมายใหญ่กว่าโครงการ โดยต้องดูเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ด้านการวิจัยต้องเป็นผู้ที่มองภาพกว้าง และกำหนดกรอบระเบียบการทำงานที่หนุนเสริมกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้สำเร็จ จึงกล่าวได้ว่านักวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ต้องทำงานร่วมกันใน “นาวาวิจัย” โดยมี PMU ทำหน้าที่เสริมแรงอย่างเป็นทีมเวิร์ค”

       ในขณะที่ ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และประธานที่ปรึกษาภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. สกสว. ได้ร่วมสะท้อนคิดในการประชุมครั้งนี้ โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “หลังการแลกเปลี่ยนในวันนี้ PMUทั้ง 9 แห่ง อาจต้องจัดทำแผนที่วิจัย (Research Mapping) ของแต่ละ PMU ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่มีความแคบและลึกกว่ายุทธศาสตร์ หรือ Research Strategy ที่ตนเองมีอยู่ เพื่อตรึงกรอบการออกแบบโจทย์วิจัยและการทำงานให้แหลมคมมากขึ้น ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ PMU เชิญมาร่วมให้ข้อเสนอแนะและทิศทางของงานวิจัยแต่ละโครงการ ต้องเป็นผู้ที่รู้ลึก มีประสบการณ์การทำงาน สามารถให้ข้อมูลและถอดบทเรียนแก่นักวิจัยได้ว่า งานวิจัยโครงการนั้นๆ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเคยมีคนทำมาแล้วหรือไม่ อย่างไร และทำออกมาแล้วบรรลุผลหรือล้มเหลวภายใต้กรอบงบประมาณที่เท่ากันหรือมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานในวิธีการเดิมแล้วไม่สำเร็จ นอกจากนี้ในมิติของ ววน. อาจยังมีการให้น้ำหนักไปที่ ว. ตัวแรกคือ วิจัย ในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมทั้งการทำงานกับสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นด้วยเช่นกัน”

       นอกจากเวทีดังกล่าวเป็นการถอดบทเรียนให้มุมมองจากผู้กำหนดนโยบาย และผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในวงการวิจัยแล้ว งานวันนี้ยังได้รับเกียรติจาก PMU ต่างๆ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจริงในการบริหารจัดการวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร. จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รอง ผอ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คุณศิริกร วิวรวงษ์ รอง ผอ. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) คุณวิเชียร สุขสร้อย รอง ผอ. ด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รศ.ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รอง ผอ. ด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึงองค์ความรู้ด้านหลักการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบจากงานวิจัย จาก รศ.ดร. สุวรรณา ประณีตวตกุล และ ผศ.ดร. กัมปนาท วิจิตรศรีกมล จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์