“รักษารากฟันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด การมีฟันธรรมชาติอยู่ น่าจะดีกว่าถอนฟันออกแล้วใส่ฟันปลอม”

เมื่อรู้สึกปวดฟัน ทานน้ำเย็น ไอศกรีม หรือน้ำผลไม้ปั่น แล้วมีอาการเสียวฟันแปล๊บอย่างรุนแรง บางครั้งถึงกับปวดฟัน อยู่นานกว่า 2-5 นาที หรือบางครั้งมีอาการขึ้นมาเองโดยไม่มีอะไรกระตุ้น มีอาการกัดเจ็บ เคี้ยวอาหารไม่ได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบอกว่าโพรงประสาทฟันของเราเกิดการอักเสบ และจำเป็นต้องได้รับการรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน กล่าวให้เข้าใจง่าย คือ การรักษาที่พยายามจะเก็บรักษาฟันธรรมชาติไว้ ไม่ให้ต้องถูกถอนออก แม้ว่าจะมีฟันผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน ปวดฟัน ฟันแตกหัก จนไม่สามารถอุดฟันได้ บางกรณีแม้ว่าฟันผุจะติดเชื้อจนเป็นหนองที่กระดูกปลายรากฟันแล้ว มีตุ่มหนองขึ้นที่เหงือกแล้ว ก็สามารถรักษารากฟันให้หายและบูรณะฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยไม่ต้องถอนฟัน
หลายครั้งคนไข้จะเกิดการสับสนระหว่าง “รักษารากฟัน” กับ “รากฟันเทียม” ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รักษารากฟันจะเป็นการเก็บฟันธรรมชาติไว้ ส่วนรากฟันเทียมจะเป็นการใส่รากฟันไทเทเนียม ทดแทนฟันที่ถูกถอนออกไปแล้ว

เมื่อไหร่ควรเข้ารับการรักษารากฟัน
ถ้าเราเริ่มมีอาการปวดขณะเคี้ยวอาหาร ทานอาหารร้อน เย็น หวาน แล้วมีอาการปวดฟันมาก หรือบางครั้งปวดขึ้นมาเองตอนกลางคืน มีเหงือกบวม หรือแก้มปวด อาการเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะมีสาเหตุมาจากโพรงประสาทฟันติดเชื้อ และอาจต้องได้รับการรักษารากฟัน
​บางครั้งฟันที่ต้องรักษารากฟัน อาจจะเคยมีอาการปวดมาก่อน แต่หายปวดไปแล้ว หรือจำไม่ได้เลยว่าเคยมีอาการปวด ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ฟันเหล่านี้มักจะมีการติดเชื้อโพรงประสาทฟันตายไปทั้งหมดแล้ว ไม่เหลือเส้นประสาทฟันรับความรู้สึกในตัวฟันแล้ว จึงมีอาการทุเลาลง แต่ในโพรงฟันจะเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ที่โตอย่างช้าๆ และทำให้เกิดหนองที่กระดูกปลายรากฟัน จนเกิดตุ่มหนองที่เป็นรูระบายที่เหงือก ซึ่งอาการของฟันเหล่านี้จึงไม่ปวดรุนแรง อาจจะรู้สึกเพียงกัดไม่สะดวก ลงน้ำหนักกัดไม่ได้ แต่ในที่สุดแล้วเมื่อหนองที่กระดูกปลายรากฟันลุกลามมากขึ้น ก็อาจเกิดอาการปวดรุนแรงขึ้นมากอีกครั้ง และรุนแรงได้ถึงขนาดแก้มบวม หรือ มีการติดเชื้อไปสู่ผังผืดบริเวณแก้ม ลำคอ และอุดกั้นทางเดินหายใจได้

สาเหตุหลักๆ ของฟันที่ต้องรักษารากฟัน มักมาจากฟันผุ ที่ปล่อยไว้นานจนลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน นอกเหนือจากฟันผุ ก็มีสาเหตุอื่นๆ บ้างที่เป็นเหตุให้ต้องรักษารากฟันเช่น ฟันร้าว ฟันแตก อุบัติเหตุกระแทก ฟันเคลื่อนที่จากตำแหน่ง เป็นโรคเหงือก รำมะนาดจนถึงรากฟัน ฟันสึกจนถึงโพรงประสาทฟัน เป็นต้น

การรักษารากฟัน ทำอย่างไร ใช้เวลานานไหม
ขั้นตอนการรักษารากฟัน แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ
1. การทำความสะอาดคลองรากฟัน หมอจะกรอฟันส่วนที่ผุออก เปิดช่องเข้าสู่โพรงประสาทฟัน หาทางลงเข้าสู่ปลายรากฟันทุกๆราก จากนั้นก็จะเริ่มขยายคลองรากฟันให้กว้างขึ้น เพื่อให้ล้างครองรากฟัน และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลอกรากฟันได้ จากนั้นจะอุดปิดด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์ กำจัดเชื้อโรค โดยทั่วไปก็จะทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
2. การอุดรากฟัน การใช้วัสดุอุดรากฟัน ซึ่งเป็นของกึ่งแข็ง (Semi-solid materials) หลอมและอุดเข้าไปในคลองรากฟันทั้งหมด เมื่อวัสดุแข็งตัว ก็จะซีลปิดคลองรากฟันไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้าไปได้อีก และทำครอบฟันทับเพื่อบูรณะฟันให้กลับมาใช้งานได้ ไม่แตกหักในอนาคต
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนหลักๆ มีสองขึ้นตอน การรักษารากฟันในเคสส่วนใหญ่ ก็จะใช้เวลาแค่เพียงสองครั้ง บางกรณีสามารถทำให้เสร็จได้ในครั้งเดียวเลย ขึ้นอยู่กับสภาพและลักษณะของฟันที่เป็นปัญหา หรือบางกรณีก็จะอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น เช่น ฟันมีความยุ่งยากซับซ้อนมาก ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษารากฟัน เคสเกือบทั้งหมดก็จะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ก็จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รักษารากฟันเจ็บหรือเปล่า
หลายคนอาจจะได้ฟังเพื่อนๆ มารักษารากฟันเจ็บมาก หมออยากจะอธิบายว่า ส่วนใหญ่ฟันที่ต้องรักษารากฟัน คนไข้มักจะมีอาการปวดแล้วจึงมาหาหมอ ทำให้จิตใจเรารู้สึกกังวล เราจะรู้สึกเจ็บปวดตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ ความทรงจำเราต่อการรักษารากฟันจึงมักจะไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งความเป็นจริงแล้วการรักษารากฟัน คุณหมอจะฉีดยาชาระงับความรู้สึกปวดให้คนไข้ ไม่ต้องกลัวว่าจะปวดหรือเจ็บระหว่างที่รักษา ถ้าเรารู้สึกขณะที่รักษา ให้บอกคุณหมอได้เลย คุณหมอจะมีวิธีระงับความปวดได้อีกหลายวิธี ที่เสริมขึ้นมา อยากให้คลายกังวลเรื่องความเจ็บระหว่างทำ หมอเฉพาะทางรักษารากฟันทุกคนมีความชำนาญเรื่องนี้อย่างดี เพราะอยู่กับคนไข้ที่เจ็บปวดมาหาอยู่ตลอด

รักษารากฟันแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน
จริงๆ แล้วเราคาดหวังให้ฟันที่รักษารากฟันอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่มันก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่เป็นแบบนั้น บ่อยที่สุดที่พบว่ารักษารากฟันแล้วต้องมาถอน เพราะไม่ได้ทำครอบฟันหลังจากรักษารากฟัน ฟันก็จะแตก หรือบางกรณีแม้จะครอบฟันไปแล้ว พบว่ารากฟันแตกหลังใช้งานไปนานๆ หลายปี ซึ่งกรณีที่สองพบไม่บ่อยเท่ากรณีแรก หมออยากให้เตือนตัวเองก่อนว่าฟันที่เราต้องรักษารากฟัน เพราะมันผุมาก อุดมาใหญ่ เหลือเนื้อฟันน้อย ซึ่งฟันทุกๆซี่เริ่มต้นจาก ฟันสมบูรณ์เต็มซี่ แต่เราดูแลมันไม่ดี เกิดการผุ จนต้องมารักษารากฟัน เมื่อเรารักษาและบูรณะมันกลับมาแล้ว ต่อไปนี้เราต้องดูแลมันให้ดีขึ้นกว่าเดิม แปรงฟันให้ดีขึ้น ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ทำเท่าที่ผ่านมา ยังดีไม่พอ แต่หลายคนกลับคิดว่า รักษาแล้ว ครอบแล้ว ไม่ต้องดูแลแล้ว ครอบฟันผุไม่ได้แล้ว แบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ฟันผุยังเกิดได้อยู่ตรงรอยต่อครอบฟันกับตัวฟัน และโรคเหงือกยังเกิดได้อยู่หากไม่แปรงฟัน รำมะนาดฟันโยก ก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุของการต้องถอนฟันในอนาคตได้ทั้งนั้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษารากฟันสำเร็จมากขึ้นในปัจจุบันคือ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างที่ศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลวิมุต เราจะใช้กล้องจุลศัลยกรรม (Dental operating microscope) ช่วยในการรักษารากฟัน กล้องจะมีกำลังขยายสูงมากช่วยให้ อะไรที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เราก็จะมองเห็นได้ เช่นบางกรณีต้องคลองรากฟันที่ตีบแคบ รูเล็กมาก เล็กกว่าปลายเข็มก็จะมองเห็นได้ มีอุปกรณ์ขยายคลองรากฟัน เครื่อง ultrasonic ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบางกรณีที่ลักษณะรูปร่างฟันซับซ้อน ก็จะใช้ CT-Scan ความละเอียดสูง ถ่ายภาพ x-ray 3 มิติ ช่วยให้เราจัดการกับอุปสรรค ปัญหาได้ง่ายขึ้น เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยในการ ผ่าตัดปลายรากฟัน แบบ microsurgery ได้อีกด้วย

ทพ. ปุณยวีร์ วีระโสภณ
ทบ. วท.ม. (วิทยาเอ็นโดดอนต์)
ประกาศนียบัตรชั้นสูง (วิทยาเอ็นโดดอนต์)
อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษารากฟัน, ทันตแพทยสภา
ติดต่อศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลวิมุต ชั้น 5
Call center 02-079-0000
แผนกทันตกรรม 02-079-0026 (เบอร์ตรง)

Facebook : https://www.facebook.com/vimutdental