ไทยนำร่องทดลองมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) จัดการความต้องการไฟฟ้าช่วงพีค ลดสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในอนาคต

จากแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 ให้ได้ตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ สนพ. จึงเดินหน้านำร่องมาตรการการตอบสนองด้านโหลด Demand Response (DR) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาสมดุลไฟฟ้าประเทศ บริหารความต้องการ บริหารความต้องการช่วงไฟฟ้าพีคให้มีประสิทธิภาพ

ในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้ากว่า 190,000 GWh และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ตามอัตราการเติบโตของประเทศ รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่จะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นในหลายประเทศจึงได้กำหนดมาตรการและนำเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการใช้ไฟฟ้าและการผลิต ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาใช้บริหารจัดการความต้องการไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการสูงนั่นคือ การตอบสนองด้านโหลด หรือ Demand Response (DR) และยังสามารถช่วยลดหรือชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในอนาคตได้

สำหรับการตอบสนองด้านโหลด หรือ DR จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ดูแลระบบไฟฟ้า ในการบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าในการรองรับเป้าหมายแผนพลังงานชาติ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าใหม่จากพลังงานหมุนเวียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและมีแผนที่จะนำมาตรการ DR มาทดลองใช้ผ่านโครงการเตรียมความพร้อมนำร่องการพัฒนาธุรกิจ DR โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และช่วยลดผลกระทบการแออัด รักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้า รวมถึงเป็นการบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมการพัฒนาไปสู่ตลาดการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ DR ในเชิงพาณิชย์

สำหรับโปรแกรมการตอบสนองด้านโหลดที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในโครงการนำร่อง คือ Capacity Program ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-auto DR) สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะสั้น โดยจะมีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมโหลด (Load Aggregator) และส่งปริมาณการลดใช้ไฟฟ้าที่รวบรวมได้ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดูแลระบบ นำไปทดแทนโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) โดยจะมีการแจ้งเตือนให้ผู้เข้าร่วมโปรแกรมทราบล่วงหน้า 1 วัน ก่อนเรียกใช้งานจริง ในช่วงก่อนเวลา 17.00 น. ของวันนั้น ทั้งนี้โปรแกรมดังกล่าวจะแบ่งช่วงเวลาการขอลดใช้ไฟฟ้าเป็น 2 ช่วงตาม Peak ที่เกิดขึ้นจริงของประเทศ คือ ช่วงบ่าย เวลา 13.30-16.30 น. และช่วงค่ำ เวลา 19.30-22.30 น.

สำหรับผลตอบแทนของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโปรแกรม ได้แก่ ค่าความพร้อมในการลดใช้ไฟฟ้า ซึ่งในแต่ละเดือนจะขึ้นอยู่กับศักยภาพ DR (kW) ตามสัญญาซื้อขายที่ได้ทำไว้ และค่าตอบแทนตามหน่วยไฟฟ้าที่สามารถลดใช้ได้จริง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จะดำเนินโครงการนำร่อง DR ภายในปี 2565-2566 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการ DR ปริมาณ 50 เมกะวัตต์ เพื่อทดสอบระบบ Semi-Auto และเตรียมขยายผลในระยะต่อไป พร้อมมีการเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://dr.thai-smartgrid.com

%MCEPASTEBIN%