สสว. จับมือ 8 แบงก์รัฐ-เอกชน สนับสนุนสินเชื่อคู่ค้าภาครัฐครบวงจร

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SME เพื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ” ภายใต้มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ว่า ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 8 แห่ง ที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีของความร่วมมือที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับ SME โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุนในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่อย่างตลาดภาครัฐ ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสามารถปลดล็อกปัญหานี้ได้สำเร็จ หมายถึง SME กว่า 3.13 ล้านรายทั่วประเทศ จะมีโอกาสสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้อีกทางหนึ่ง และจะเป็นพลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง เติบโต และยั่งยืนต่อไปได้

รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง สสว. และสถาบันการเงิน ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต ครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น และช่วยขยายโอกาสให้ SME ในการสร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ สสว. ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้ SME เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการได้สะท้อนปัญหาสำคัญในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ คือต้องมีการนำเงินมาวางหลักประกันต่างๆ เช่น หลักประกันการเสนอราคา หลักประกันสัญญา หลักประกันผลงาน ซึ่งมีอัตราร้อยละ 5-10 ของวงเงินจ้าง วงเงินดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เพราะที่ผ่านมาการรับงานภาครัฐโดยเฉพาะการตรวจรับงาน จะมีขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลา
จึงส่งผลต่อการเบิกจ่ายเงินค้าจ้างดำเนินการ ซึ่งจากการสะท้อนปัญหาดังกล่าวของ SME สสว. ได้นำมาพิจารณาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการเงินจนเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้”

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประกอบการพัฒนาสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ ของสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อเพื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ สินเชื่อ Factoring ฯลฯ ครอบคลุมการรับงานภาครัฐตั้งแต่ช่วงก่อนรับงาน (Pre Finance) ช่วงหลังทำสัญญา (Post Finance) รวมถึงรูปแบบเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในระบบ THAI SME-GP ที่เว็บไซต์ www.thaismegp.com รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของแต่ละสถาบันการเงิน ไปสู่ผู้ประกอบการ SME เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เปิดให้ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP เมื่อปลายปี 2563 เป็นต้นมา ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวม 81,600 ราย จังหวัดที่มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา และปทุมธานี มีรายการสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียน รวมทั้งสิ้น 546,000 รายการ สินค้าที่ขึ้นทะเบียนมาก ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน 2.โครงสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง และการผลิต 3.เครื่องดนตรี เกม ของเล่น งานศิลปะ งานฝีมือและการศึกษา 4.บริการด้านก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร 5.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม

“จากข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ถึงผลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า SME ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นมูลค่ารวม 232,684 แสนล้านบาท ซึ่งผลที่เกิดขึ้นสะท้อนได้ว่าระบบ THAI SME-GP ของ สสว. เป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEทั่วประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สสว. ได้เตรียมแผนที่จะขยายผลต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้กับ สสว. ให้มีโอกาส เข้าสู่ตลาดภาคเอกชน หรือ Corporate Procurement ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสนับสนุนช่วยเหลือ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการต่อไป” ผอ.สสว. กล่าวในที่สุด.