พช.ชัยภูมิ รวมพลังขับเคลื่อนโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข “ชัยภูมิรวมใจ” เฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง

นายกันตภณ หมื่นจิตร พัฒนาการอำเภอเนินสง่า เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข “ชัยภูมิรวมใจ” กิจกรรมวัดประชารัฐ สร้างสุข สร้างครัวชุมชน (ศูนย์แบ่งปัน) สวนสมุนไพรในวัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา 12 สิงหาคม 2564 โดยโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจาก พระครูประภากรชัยวุฒิ เจ้าคณะตำบลหนองฉิม ในการจัดกิจกรรมโครงการฯ ณ วัดคูศรีวนาราม หมู่ 6 ตำบลหนองฉิม อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ

ในการนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเนินสง่า โดยนายกันตภณ หมื่นจิตร พัฒนาการอำเภอเนินสง่า พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ,ผู้นำชุมชน,นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ และประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งการดำเนินโครงการฯมีกิจกรรม ดังนี้1) ปลูกพืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้น ขิง ฯ 2) ปลูกผักสวนครัว มะเขือ พริก ข่า ตะไคร้ กะเพราเขียว ต้นหอม ฯ 3) จัดสวนสมุนไพรในวัดปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชน

โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบที่ 2 และการดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข “ชัยภูมิรวมใจ ปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาศูนย์เรียนรู้สวนสมุนไพรในวัด เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา” ณ วัดคูศรีวนาราม หมู่ 6 ตำบลหนองฉิม อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ด้วยกระบวนการ 3 5 7 9 (3 พันธกิจ 5 ส 7 ขั้นตอน 9 แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่) ของมหาเถรสมาคมเป็นหลักสำคัญในการพัฒนากิจกรรมและพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จรรโลงและดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ประกอบกับการนับถือศาสนา คำสอนของศาสนา และพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีนำไปสู่สังคมอยู่เย็น เป็นสุข และเพื่อส่งเสริมให้วัดและชุมชน เป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่พัฒนาจิตใจและปัญญา อีกทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีจิตสำนึกและจิตอาสา ในการพัฒนาบริเวณภายในวัดและชุมชนให้เป็นต้นแบบของครัวเรือน สร้างพลังชุมชน และเกิดเป็นภูมิปัญญาในการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดอาชีพและมีรายได้แก่ชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน.