พรีม่า ผสานภาครัฐ-เอกชน เร่งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ เดินหน้าประเทศไทยสู่ศูนย์กลางความมั่นคงทางสุขภาพในระดับภูมิภาค

             กรุงเทพฯ - 26 มีนาคม 2564 - สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA: พรีม่า) ตอกย้ำภารกิจหลักตลอด 50 ปี ในการสนับสนุนนวัตกรรมด้านสุขภาพ พร้อมเปิดเวทีสัมมนาวิชาการ “50 Years of Health Innovation: Partnership for Regional Health Security” จุดประกายความคิดและสานต่อเครือข่ายการทำงานกับภาครัฐและภาคเอกชนด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการคิดค้นและพัฒนายานวัตกรรมและแนวทางการรักษาโรค ที่จะยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางความมั่นคงทางสุขภาพในภูมิภาค” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติร่วมงานและกล่าวปาฐกถาเปิดงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก

            ดร.นรา เดชะรินทร์ นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) กล่าวว่า “ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทยเกิดจากการมีระบบประกันสุขภาพที่ดี ประกอบด้วย ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรรมด้านสุขภาพ ได้แก่ การพัฒนายาและวัคซีน เครื่องมือทางการแพทย์ และกระบวนการรักษาที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังมีระบบการติดตามและควบคุมโรคที่ทันสมัย ซึ่งทำให้อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ลดลง อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น”   

            นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) กล่าวว่า “ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การดำเนินงานของพรีม่าในกระเทศไทย ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ “50 Years of Health Innovation: Partnership for Regional Health Security” ขึ้น เพื่อจุดประกายและขยายกรอบความคิดร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประเทศไทย โดยมีหัวข้อสำคัญที่ครอบคลุมในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความมั่นคงทางด้านสุขภาพในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกัน การสร้างคุณค่าให้กับประเทศด้วยนวัตกรรมด้านสุขภาพ ความยั่งยืนทางการเงินในยุคสังคมผู้สูงวัย และการผสานความร่วมมือเป็นพันธมิตรเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค”

            “สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแลนโยบาย สถาบันวิจัยต่าง สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน ในการร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ในระบบสุขภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ และเป็นศูนย์กลาง ด้านความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งก็คือตัวชี้วัดสำคัญที่จะสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และยังเป็นผลต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.นรา กล่าวทิ้งท้าย