“สรวุฒิ” นำทีมลุย แก้ปัญหาช้างป่า 5 จังหวัดเขตรอยต่อภาคตะวันออก ย้ำพร้อมรับฟังทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

       “สรวุฒิ” นำทีมลุย แก้ปัญหาช้างป่า 5 จังหวัดเขตรอยต่อภาคตะวันออก ย้ำพร้อมรับฟังทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เบื้องต้นสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมรั้ว ติดตั้งแบริเออร์กันช้างเข้าพื้นที่การเกษตร

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสรวุฒิ เนื่องจำนง ประธานคณะกรรมาธิการ และ นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายบัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ นำคณะกรรมาธิการ และ ที่ปรึกษาเดินทางมาศึกษาดูงาน เกี่ยวกับการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า ในพื้นที่5 จังหวัดเขตรอยต่อภาคตะวันออก เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีการเกิดเหตุช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำร้ายร่างกายชาวบ้านจนเสียชีวิต ในการนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 จังหวัดเขตรอยต่อภาคตะวันออกเข้าร่วมประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมได้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาช้างป่า พร้อมระบุว่าชาวบ้านในพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการทำมาหากินเนื่องจากถูกช้างป่ารุกรานพื้นที่ และทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯ รับรู้ถึงปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตขณะออกทำมาหากิน โดยชาวบ้านได้ร้องขอการแก้ปัญหาหลายเรื่อง อาทิ การติดชิปช้างป่าที่เกเรเพื่อป้องกันหากช้างเกเรเข้าใกล้ชุมชน เสนอจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มจากเดิมที่กำหนด แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยลดผลกระทบคนกับช้างป่า รวมทั้งสวัสดิการเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าที่เฝ้าระวังภัยในหมู่บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นายสรวุฒิได้กล่าวแสดงความเสียใจกับญาติผู้ที่เสียชีวิต พร้อมทั้งยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตจากปัญหาช้างป่ารายล่าสุด ที่อำเภอน้ำเป็น จ.ระยอง

นายสรวุฒิ กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อรับทราบปัญหาในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยจังหวัดจันทบุรีได้วางแนวทางแก้ปัญหาช้างป่า เป็นวาระจังหวัด มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ชาวบ้าน ขยายเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าครอบคลุมพื้นที่รวม 8 อำเภอซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่ใกล้ชุมชน มีการเตือนภัยที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรีกำลังทดลองเครื่องมือที่ประดิษฐ์คิดค้นป้องกันช้างป่า เช่น เครื่องส่งสัญญาณเสียงไล่ช้าง และ เครื่องติดตั้ง GPS ติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่าเพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยชาวบ้านเมื่อช้างป่าเข้ามาใกล้ชุมชน อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการฯจะนำข้อมูลที่ได้รับจากทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ ไปเร่งหารือเพื่อหามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้เบื้องต้น ทางคณะกรรมาธิการจะได้มีการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมรั้วกันช้าง อาจจะมีการติดตั้งแบริเออร์ทดแทนรั้วกันช้าง มีการจัดพื้นที่อ่างฤไนยให้ช้างอยู่และมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ให้ช้างเพื่อลดปัญหา.