พช. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ที่เมืองสุโขทัย ตามแนวพระราชดำริของ ร.9

        พช. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ตามกลไกการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่เมืองมรดกโลก สุโขทัย อรุณรุ่งแห่งความหวังและความสุข ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา และต่อยอด ภายใต้แนวพระราชดำริ " บวร "

        13 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกิจกรรมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทีมวิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 62 คน ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาชุมชนกสิกรรมวิถี เอามื้อสามัคคี บ้านห้วยมะนาว ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล" ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาชุมชนบ้านแม่ท่าแพ (อาศรมพระธรรมจาริก) หมู่ที่ 8 บ้านแม่ท่าแพ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสรสาสน์ ศรีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผอ.สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นายธวัช ใสสม พัฒนาการจังหวัดสุโขทัย นายเทียนชัย วงศ์ษา ท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย นางรุ่งอรุณ คำโมง นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยว พัฒนาการอำเภอจากทุกอำเภอในจังหวัดสุโขทัย และเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน ร่วมกิจกรรม

      นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเงินกู้เพื่อฟื้นฟูหลังโควิด-19 ให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" กว่า 4,700 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 25,179 ครอบครัว กระจายอยู่ใน 3,246 ตำบล ทั่วประเทศไทยใน 73 จังหวัด โดยมุ่งหวังที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้คนไทยทุกคนว่า เศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ จะทำความเจริญและช่วยให้ประเทศชาติรอดปลอดภัย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก ความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า โครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีต่อพี่น้องประชาชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ มีอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ส่ง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล หรือ อ.โก้ และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรือ อ.หน่า มาช่วย

       โครงการนี้สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาคน ดังนั้น คนที่กรมการพัฒนาชุมชนรับสมัครมาทำงานในแปลงเกือบหมื่นคนทั่วประเทศ รับเงินเดือน ๆ ละ 9,000 บาท 1 ปี เราจึงต้องเรียกผู้เข้าร่วมโครงการว่า "นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ" คือ คนที่เข้ามาร่วมทำงานในศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ไม่ใช่คนงาน ไม่ใช่ลูกจ้าง เจตนารมณ์นอกจากเรื่องรายได้และการเป็นเพื่อนคู่คิดของเจ้าของแปลงแล้ว เป้าหมายสูงสุดคือ ได้ learning by doing เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการปฏิบัติจริง โดยเริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมหลักสูตรเดียวกันกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและครัวเรือนเป้าหมาย เมื่อทำงานครบ 1 ปี ก็นำไปต่อยอดปฏิบัติจริงในครัวเรือน เป็นการฝึกทำงานให้รู้จริงให้ชิน

        ส่วนพี่น้องประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการขุดหนองกักเก็บน้ำ ทำโคกเพื่อปลูกไม้ 5 ระดับ ขุดคลองไส้ไก่และปลูกพืชในที่ของตนเองได้ จะได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่เพราะต้องดูแลเอง แต่รัฐบาลไม่ได้ให้เปล่า มีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า "ขาดทุนคือกำไร" เช่น ที่จังหวัดสุโขทัยเกือบหมื่นชีวิตที่เกี่ยวข้อง จะต้องยินยอมให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้พี่น้องที่สนใจมาเรียนรู้ด้วย โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้การพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่กระจายออกไป ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้ง มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นการกักเก็บน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งตรงกับพระราชดำรัสเรื่อง "แก้มลิง" เก็บน้ำในหน้าฝนเพื่อมีเหลือพอใช้ในหน้าแล้ง ภัยแล้งก็จะลดลง ถือเป็นกำไร และยังมีเรื่องไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน ไม้ใช้ ประโยชน์ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น และสิ่งที่จะได้กำไรเพิ่ม คือ เรื่องสุขภาพจิตที่ดีจากสภาพแวดล้อมที่ดี พื้นที่ต้นแบบจะเป็นเหมือนรีสอร์ทของตำบลหมู่บ้าน อนาคตต่อยอดเป็นโฮมสเตย์ ทำเป็นที่พัก ที่สำคัญคือ ไม่ใช้สารเคมี ดังนั้น ธรรมชาติก็กลับมาและความสุขก็กลับมา คนเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นสังคมแบ่งปัน รู้จักทำบุญทำทาน แบ่งปันญาติมิตร นี่คือสิ่งที่รัฐบาลได้มุ่งหวัง ทำสิ่งนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์จริง ๆ

         อีกประการคือ การขยับขยายเรื่องนี้ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทำศูนย์เรียนรู้เพิ่มขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วม บริหารจัดการพื้นที่ สร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้ง บูรณาการกับเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ไม่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ ๆ ต่อไป และเพิ่มการปลูกต้นไม้ให้เยอะ ๆ เหมือนดาบวิชัยที่ศรีสะเกษ

         อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวต่อว่า โคกหนองนา ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชฟื้นกลับมา เราต้องช่วยกันบูรณาการงาน ช่วยกันทั้งปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น พัฒนาร่วมกัน หลักการเรื่องนี้คือสามัคคีคือพลังค้ำจุนโลก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนให้เรา "รู้ รัก สามัคคี" รู้คือรู้กระบวนการ รู้หลักสูตรที่ถูกต้อง ผ่านเกณฑ์ประเมิน รวมทั้งเป็นนักพัฒนาพื้นที่ี้ต้นแบบ ลงแปลงเป็นผู้ช่วย เป็นเพื่อนคู่คิดเจ้าของแปลง รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องรักกันสามัคคีกันด้วย มีคนเข้าร่วมกว่าสามหมื่นห้าพันคน เหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของสังคม นี่คือกำไรที่ภาครัฐได้มา

        ส่วนการปรับปรุงพื้นที่รายครัวเรือน เรามีแบบมาตรฐานให้ มีสมาคมศิษย์เก่าวิศวะมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเป็นเครือข่ายช่วยดู แต่ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วย ตอนอบรมก็มีวิชาออกแบบพื้นที่ เราก็สามารถออกแบบเองได้ ให้เจ้าของที่เลือกแบบเองได้ เราจะคุมแค่ปริมาตรดินที่ขุด หมายความว่า ถ้าเรามีคลองเก่า หนองเก่า เราก็ดูดินที่ขุดขึ้นมา และ GISTDA มาช่วยตรวจสอบทางดาวเทียมดูก่อนขุด หลังขุด ตรวจสอบปริมาตรดินได้เลย มีระบบคุมอยู่

          เรื่องการจัดเลี้ยงในกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ระดับตำบลแปลงละ 7 ครั้ง ระดับครัวเรือน 3 ครั้ง เจ้าของครัวเรือนจัดซื้อวัสดุในท้องถิ่นประกอบเลี้ยง งบประมาณก็จะหมุนเวียนในชุมชน ท้องถิ่น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สามารถเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม เช่น เรื่องการคลุมดินถ้าฟางข้าวน้อย ก็ใช้ใบตองใบไม้ได้ หลักการ คือนอกจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาแล้ว ต้องให้เม็ดเงินเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น

        "โดยรวมวันนี้ ขอฝากท่านพัฒนาการจังหวัด ท่านท้องถิ่นจังหวัด ให้คิดดูว่า ในชีวิตข้าราชการนี้ ไม่มีโอกาสที่จะสร้างจุดหักเหให้เกิดการพัฒนาต่อพี่น้องประชาชนที่แท้จริงได้เท่านี้มาก่อน โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัยนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม เพราะนำหลักการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานไว้ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบรมชนกนาถของพระองค์มาใช้ขับเคลื่อน มีทั้ง ”บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ศาสนาพุทธ “บรม” (บ้าน ราชการ มัสยิด) ศาสนาอิสลาม และ “ครบ” (คริสต์ ราชการ บ้าน) ศาสนาคริสต์ มาใช้ในการพัฒนาชุมชน เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ฝากพี่น้องชาวสุโขทัยต้องสนองแนวพระราชดำริของในหลวง ช่วยกันพัฒนาคนให้ไปพัฒนาพื้นที่ พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน และก็จะไปพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป" อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย

          สำหรับสวนภูมิวนา บ้านห้วยมะนาว ตำบล บ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ได้จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีร่วมกับทีมวิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชน ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 62 คน จาก 6 จังหวัด โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาชุมชนกสิกรรมวิถี เอามื้อสามัคคี เป็นสถานที่ในการฝึกปฏิบัติภาคสนาม มีสวนผลไม้ ฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นพื้นที่ต้นแบบระดับตำบล CLM ในการพัฒนาตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" และศูนย์ศึกษาการพัฒนาชุมชนบ้านแม่ท่าแพ (อาศรมพระธรรมจาริก พระอาจารย์ชลชัย กิตฺติภทฺโท) หมู่ที่ 8 บ้านแม่ท่าแพ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล จำนวน 18 รุ่น ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด "บวร" หรือ บ้าน วัด ราชการ ที่เป็นการแสดงความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน วัด และส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ แสดงถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีขึ้นในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล เช่น งบประมาณค่าอาหาร ก็ใช้กลุ่มแม่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลบ้านแก่ง จำนวน 13 หมู่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเลี้ยง โดยค่าใช้จ่ายต่างๆในเรื่องวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจัดเลี้ยง ก็นำมาจากชาวบ้านและกลุ่มต่างๆที่เป็นผู้ผลิตในพื้นที่ อาหารว่างก็นำมาจากกลุ่มผลิตสินค้าโอทอป ที่มีการผลิตขนมต่างๆในพื้นที่นำมาจัดเลี้ยง วัสดุฝึกและอุปกรณ์การฝึกต่างๆ ก็จัดซื้อจากผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเน้นให้จัดซื้อตามผู้เข้าอบรมที่มาจากอำเภอไหน ให้จัดซื้อจากผู้ประกอบการในอำเภอนั้นๆ เพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง แต่ต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์และระเบียบราชการ
        
       ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัย ได้รับงบประมาณเงินกู้ เพื่อดำเนินงานโครงการนี้เป็นเงินจำนวน 319,307,870 บาท มีพื้นที่ดำเนินการตามโครงการทั้งหมด 3,640 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล 59 ตำบล มีพื้นที่ 885 ไร่ และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน 1,147 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 2,412 ไร่  มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,853 คน และผู้รับจ้างเหมาบริการปฏิบัติภารกิจในแปลงที่ต่อไปขอให้ทุกท่านเรียกว่า นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 636 คน ทางกรมการพัฒนาชุมชน มีความคาดหวังว่า งบประมาณที่ได้รับนี้ นอกจากจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดสุโขทัยได้สมดังคำ "แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน"