สัมภาษณ์หมอพิสิฐ ตันติวัฒนากุล เรื่องโควิด-19กับการมีบุตร

สัมภาษณ์หมอ พิสิฐ ตันติวัฒนากุล เรื่องโควิด-19กับการมีบุตร

นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เรียนต่อปริญญาโทสาขาวิทยาการเลี้ยงตัวอ่อนทางคลินิก (Master of Clinical Embryology) จาก Monash university, Melbourne, Australia ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องโควิดกับการมีบุตร
เนื่องจากสถาณการณ์โควิดทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล คนที่อยากจะมีบุตร หรือคนที่กำลังตั้งครรภ์ก็มีความกังวลว่าควรจะตั้งครรภ์ช่วงนี้หรือไม่ นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล ก็ได้ให้คำตอบเราในวันนี้
คนที่กำลังจะมีลูกหรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการรักษามีบุตรยาก การติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะมีผลกระทบกับการรักษาได้ นอกจากที่จะต้องกังวลถึงผลกระทบในการรักษา ยังต้องกังวลถึงผลกระทบกับคนรอบข้างอีกด้วย แต่ถ้าพูดในแง่การรักษามีบุตรยากแล้วบังเอิญติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ถ้าความรุนแรงของอาการไม่มาก เช่นไข้ไม่สูง ไม่มีอาการของปอดอักเสบที่ชัดเจน ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำการรักษาต่อเนื่องต่อไปได้ แต่ถ้าโรคมีความรุนแรงก็คงต้องยุติการรักษา แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะจำเป็นต้องยุติการรักษาในทุกกรณีอันเนื่องมาจากผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นร่วมด้วย
ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผลกระทบในแง่ของมารดา พบว่าความรุนแรงของโรคโควิดไม่ได้เพิ่มขึ้นจากคนที่ไม่ตั้งครรภ์
ส่วนผลกระทบกับบุตรในครรภ์ในเรื่องโอกาสการแท้งบุตรก็ไม่ได้มากขึ้นเช่นกัน แต่ผลในแง่การคลอดก่อนกำหนดอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือโอกาสได้ลูกตัวเล็กก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเชื้อโควิดไม่ได้ผ่านทางรก ดังนั้นเด็กในครรภ์จะไม่ได้มีการติดเชื้อโควิด และไม่น่าเกิดความพิการในเด็ก

ถ้าถามว่าหลังคลอดคุณแม่ให้นมได้ไหม พบว่าเชื้อโควิดไม่ได้ผ่านทางน้ำนม ดังนั้นการให้นมแม่ไม่น่ามีการติดเชื้อทางน้ำนมโดยตรง แต่อาจจะติดจากทางเดินหายใจหรือสัมผัส ซึ่งก็สามารถป้องกันได้ในการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ