องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและประชาชนผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายร่วมยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนมากกว่า 10,000 รายชื่อต่อตัวแทนประธานรัฐสภา เรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้ครอบคลุมการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เนื่องใน ‘วันเสือโลก’ ซึ่งตรงกับนที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี หลังจากที่ยื่นริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมายไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและระชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้รับเกียรติเป็นตัวแทนคนไทยมากกว่า 10,000 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างเสือมาผสมพันธุ์เพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายทารุณหลากหลายรูปแบบ โดยการยื่นรายชื่อครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐสภาจะให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายตามข้อเรียกร้องของเราต่อไป” นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย กล่าวว่า “การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยเป็นการผลิตเสือป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เห็นได้จากมีการนำเสือมาให้นักท่องเที่ยวถ่ายเซลฟี่ ป้อนอาหาร ตลอดจนเอามา ฝึกแสดงโชว์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับเสือไปตลอดชีวิต สภาพความเป็นอยู่ในสถานที่เหล่านี้ก็คับแคบ หลายตัวถูกล่ามโซ่ ถูกควบคุมด้วยอุปกรณ์สร้างความเจ็บปวดต่างๆ ขาดอิสรภาพ และไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ” นายปัญจเดช กล่าวเสริมว่า “นอกจากประเด็นเรื่องการผสมพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว กฎหมายไทยยังมีช่องว่างในเรื่องของการนำสัตว์ป่ามาฝึกเป็นนักแสดงเพื่อให้ความบันเทิงแก่มนุษย์ด้วย” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาบางส่วนของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับปัจจุบัน อาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหาประโยชน์จากสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่ามากขึ้นในอนาคตได้ ผู้แทนองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยืนยันด้วยว่าการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงไม่มีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์หรือการพัฒนาสายพันธุ์ตามที่บุคคลบางกลุ่มอ้างแต่อย่างใด เพราะเสือที่ถูกผสมพันธุ์เพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิงส่วนใหญ่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่นของไทย จึงไม่สามารถปล่อยสู่ป่าไทยได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ซึ่งส่งผลให้ลูกเสือที่เกิดขึ้นมามีโอกาสที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ พิการ หรืออายุสั้นมากกว่าลูกเสือที่เกิดตามธรรมชาติ นอกจากนี้ การผสมพันธุ์เสือยังเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการค้าชิ้นส่วนอวัยวะเสือแบบผิดกฎหมายได้ด้วย นายปัญจเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนกับการผสมพันธุ์ในสถานที่เหล่านี้เพื่อการค้า แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่านอกจากการผสมพันธุ์เสือเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง ยังมีธุรกิจแอบแฝงโดยการนำชิ้นส่วนอวัยวะเสือมาเป็นส่วนประกอบของ การทำยาแผนโบราณ เครื่องรางของขลัง และเครื่องประดับราคาแพง เป็นต้น” ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเสือในกรงเลี้ยงราว 1,500 ตัว โดยในสถานที่ที่จัดแสดงโชว์เสือเพื่อความบันเทิง แห่งหนึ่งมีเสือกว่า 400 ตัว และมีลูกเสือเกิดใหม่อยู่เป็นประจำ แม้ว่าการผสมพันธุ์เสือเพื่อการค้าจะขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ CITES ได้มีหนังสือแจ้งเตือนมายังรัฐบาลไทยให้ควบคุมปริมาณเสือในกรงเลี้ยง เนื่องจากมีจำนวนมากซึ่งอาจเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการลักลอบค้าชิ้นส่วนอวัยวะเสือที่ผิดกฎหมายได้ ทั้งนี้ การเรียกร้องยุติการยุติผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับประชาชนจะไม่รวมถึงในส่วนของการผสมพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ต่างๆ เช่น การผสมพันธุ์เสือสายพันธุ์ถิ่นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สวนสัตว์ของรัฐ หรือหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือ การเรียกร้องยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอยู่ภายใต้โครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife Not Entertainers.) ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เป็นการรณรงค์ระดับโลกให้ยุติการนำสัตว์ป่ามาหาประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์ป่าเหล่านั้น ครอบคลุมทั้งเสือ ช้าง โลมา หมี และอื่นๆ โดยเน้นย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญว่าสัตว์ป่าไม่ใช่สินค้าหรือเครื่องมือหาผลประโยชน์ของมนุษย์ สัตว์ป่าสมควรจะได้อยู่ในป่า และมีโอกาสใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างอิสระ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th ภาพประกอบเพิ่มเติม http://bitly.ws/98TV เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th